×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เปิดผลการศึกษาวิจัยแนวทางการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค CLIV+T สู่เป้าหมายการพัฒนาด้านนโยบายและกลไกสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

สอวช. เปิดผลการศึกษาวิจัยแนวทางการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค CLIV+T สู่เป้าหมายการพัฒนาด้านนโยบายและกลไกสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่เผยแพร่ 23 ธันวาคม 2022 445 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาและนำเสนอผลการศึกษาโครงการวิจัย “นโยบายและกลไกการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.): กรณีศึกษาประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว” โดย ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. ได้กล่าวปาฐกถานำ ในหัวข้อ “การส่งเสริมกิจการ อววน. เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน” และมีการนำเสนอผลการศึกษาโครงการวิจัย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการ ศูนย์อาเซียนศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รองศาสตราจารย์ ดร. พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ดร.กาญจนา กล่าวถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคด้าน อววน. โดยแบ่งเป็น 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1) กลไกความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีการทำงานร่วมกันมาเป็นเวลานาน เป็นสาขาแรก ๆ ที่หลายประเทศเห็นตรงกันว่าต้องให้ความสำคัญ แต่ปัจจุบันได้มีเรื่องนวัตกรรมที่ทุกประเทศให้ความสนใจเพิ่มเข้ามา ซึ่งในแง่นโยบายจะเข้าไปช่วยเสริมหรือเป็นแพลตฟอร์มกลาง สร้างให้เกิดความเข้มแข็งทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคได้ 2) ในระดับภูมิภาค มีโจทย์ ความสนใจ และความท้าทายร่วมกัน ซึ่งหลายอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยประเทศเดียว เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการขยะพลาสติก การดำเนินตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศ 3) การนำเอาทรัพยากรที่มีมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปรับบทบาทจากการเป็นประเทศผู้รับ (Recipient Country) เป็นประเทศผู้ให้ (Donor Country) การสร้างแพลตฟอร์มที่เป็นกลางเพื่อทำงานในประเด็นที่ประเทศในภูมิภาคนี้มีความสนใจร่วมกันนั้น จะเอื้อต่อการระดมทรัพยากรจากองค์กรต่าง ๆ จึงต้องเริ่มจากการมองหาโจทย์ และทำความเข้าใจทั้งประเทศของเราเองและประเทศที่จะมีความร่วมมือในอนาคต 4) การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ที่จะเป็นโอกาสทางการตลาด หากมีความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการลงทุนร่วมกัน เกิดการยกระดับผู้ประกอบการ หรือพัฒนากลุ่มสตาร์ทอัพให้ไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้นได้

ผลการศึกษาโครงการวิจัย ได้ข้อเสนอแนวทางและกลไกการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัย อววน. แบ่งออกเป็น 4 แนวทาง ได้แก่ 1) แนวทางการสร้าง Soft Power เพื่อเป้าหมายการสร้าง Friends of Thailand ผ่านความร่วมมือ อววน. โดยจากการศึกษาวิจัยในโครงการนี้ สังเคราะห์มิติความร่วมมือที่สอดคล้องทั้งกับแนวทางการดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนากิจการ อววน. ของทั้งประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงในภูมิภาค ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว อินโดนีเซีย และเวียดนาม (CLIV+T) อีกทั้งยังจะช่วยส่งเสริมการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ โดยมิติความร่วมมือด้าน อววน. ที่ต้องให้ความสำคัญพิเศษ ได้แก่ การเกษตรแม่นยำ (Precision Farming), ความมั่นคงทางอาหารและอาหารอนาคต (Food Security and Future Food), การออกแบบและบ่มเพาะธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Design & Circular Business Incubation), นวัตกรรมวัฒนธรรมและสื่อดิจิทัลสร้างสรรค์ (Cultural Innovation & Creative Digital Contents), การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมและผู้ประกอบการนวัตกรรม (Innovation Ecosystem and Innovation-driven Enterprise Development), อุทยานวิทยาศาสตร์ และอุทยานดิจิตอล (Science Park and Digital Park), การวิจัยขั้นแนวหน้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Frontier Research for Sustainable Development)

2) แนวทางการพัฒนาความร่วมมือ อววน. ใน 7 มิติสำคัญ มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ Digitalization การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมในโลกยุคดิจิทัล, Deception การอำพรางซ่อนเร้นของเทคโนโลยีใหม่ในช่วงแรก, Disruption คือช่วงเวลาแห่งความสำเร็จที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่จะมากระชากเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคให้เกิดการปรับตัวขนานใหญ่, Demonetization ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ดีจะทำให้ทุกคนใช้เงินลดลง ลดรายจ่ายลง ประหยัดได้มากยิ่งขึ้น, Dematerialization นอกจากการประหยัดเงินแล้ว เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ต้องช่วยลดการใช้ทรัพยากรลงด้วย, Democratization และในระดับสูงสุด เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่จะเข้าถึงคนส่วนใหญ่ สร้างประโยชน์ให้คนจำนวนมาก 3) ศักยภาพของ CLIV+T คือตลาดที่มีขนาดประชากรมากกว่า 462 ล้านคน มูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี สูงกว่า 2.19 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีกำลังซื้อระดับ 4,685 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี นอกจากนี้ยังมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง และ 4) แนวทางการพัฒนาการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใน CLIV+T ในกลุ่ม Low-end Market จะเน้นการผลิตมากเพื่อให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง อาศัยกำไรจากการตั้งราคาที่ไม่สูงจากต้นทุน และเน้นการขายในปริมาณมาก ส่วน Mid-end Market เน้นการรวมเอาความสามารถในการตอบโจทย์ที่แตกต่างหลากหลายรวมกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น เพื่อเน้นตลาดในบางกลุ่ม บางส่วนตลาด บางพื้นที่ เพื่อสร้างชื่อเสียงและความชื่อสัตย์ต่อตราสินค้า ก่อนเข้าสู่ตลาดที่มีการแข่งขันที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ การพัฒนาความร่วมมือกับประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคนั้น มีกระบวนการที่สำคัญคือกระบวนการสร้างความไว้วางใจ ซึ่งประกอบด้วย การมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน ในแง่ของการสื่อสาร ต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายและเนื้อหาสาระที่ชัดเจน เป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาว ส่วนต่อมาคือการมีศักยภาพเพียงพอ โดยแบ่งเป็นการมีความน่าเชื่อถือและความจริงใจ เคารพให้เกียรติ เป็นพันธมิตรที่เท่าเทียม แบ่งผลประโยชน์อย่างจริงจัง และส่วนสุดท้ายคือมีแรงจูงใจ ที่มีความต่อเนื่อง ในแง่ทรัพยากรมนุษย์ องค์ความรู้ งบประมาณ เป็นต้น

เรื่องล่าสุด