×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ลงพื้นที่จังหวัดสกลนคร เยี่ยมชมและร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการสร้าง Learning City พัฒนาชุมชนพร้อมพัฒนาการศึกษาและสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่

สอวช. ลงพื้นที่จังหวัดสกลนคร เยี่ยมชมและร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการสร้าง Learning City พัฒนาชุมชนพร้อมพัฒนาการศึกษาและสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่

วันที่เผยแพร่ 17 ธันวาคม 2022 586 Views

เมื่อวันที่ 13 – 14 ธันวาคม 2565 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดย ดร.สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการ สอวช. ลงพื้นที่เยี่ยมชมและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Sakolnakorn Learning City ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร พร้อมด้วย รศ. ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คณะทำงานจาก มจธ. ประชาคมสกลนคร และเครือข่ายหน่วยงานในพื้นที่

ภาคประชาสังคมในจังหวัดสกลนคร ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนกรณีศึกษา BCG Recycle Business Platform ที่เรียกว่า UNII Recycle ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้หลักการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่าหรือห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ มีการเชื่อมโยงนำวัสดุรีไซเคิลเข้าสู่วงจรการซื้อขายที่เป็นระบบ สร้างรายได้เพิ่มให้กับคนในชุมชน อีกทั้งได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรสวนป่าบ้านดิน เรียนรู้การใช้ระบบไบโอฟลอค (Biofloc) ในการเลี้ยงปลานิล พร้อมทั้งเรียนรู้แนวทางการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการและช่วยสนับสนุนการประกอบอาชีพของคนในพื้นที่ ไปพร้อมกับการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

คณะทำงานยังได้ลงพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร เข้าเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กประจำตำบล เพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการศึกษาให้กับเด็กในพื้นที่ และการเชื่อมโยงกับเครือข่ายในชุมชนในการพัฒนาการศึกษาให้กับเด็ก พร้อมทั้งได้เยี่ยมชมหน่วยบริการกุสุมาลย์ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสกลนคร สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ และได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เลิงฮังสามัคคี จำกัด ศึกษารูปแบบการทำงานในเครือข่ายชุมชน รวมถึงรับฟังการนำเสนอแนวคิดการเรียนการสอนแบบ Executive Functions (EF) ที่มีแนวคิดหลัก คือการใช้ทักษะสมองเพื่อจัดการชีวิตให้สำเร็จ ส่งผลต่อความสำเร็จทั้งในการเรียน การงาน การอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ การคิดสร้างสรรค์ และการจัดการทุกด้านตลอดชีวิต มีองค์ประกอบ 9 ด้าน แบ่งเป็น 3 กลุ่มทักษะ ได้แก่ 1) ทักษะพื้นฐาน 2) ทักษะปฏิบัติ และ 3) ทักษะกำกับตนเอง ซึ่งการใช้หลักการ EF ในการเรียนการสอน จะช่วยทำให้เด็ก “คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น และมีความสุขเป็น” ทั้งนี้ แนวคิดการเรียนการสอนแบบ EF ดังกล่าวจะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กประจำตำบลอุ่มจานต่อไป

นอกจากนี้ ได้เข้าศึกษาเยี่ยมชมแนวทางการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนวิถีธรรมแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ที่ได้นำแนวคิดการเรียนการสอนแบบ EF มาประยุกต์ใช้ มีหลักการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ผ่านการเล่น และการลงมือปฏิบัติจริงอย่างมีความสุข โดยส่งเสริมการพัฒนาทักษะ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์-จิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา มีการออกแบบหลักสูตรการเรียนให้เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก เพื่อให้เด็กมีแนวทางในการค้นพบตนเอง มีโอกาสการเรียนรู้และทางเลือกที่หลากหลายในการดำเนินชีวิต

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ดังกล่าว สอวช. เล็งเห็นว่า การนำแนวทางการสอนในรูปแบบนี้ไปปรับใช้กับการเรียนการสอนในพื้นที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีทักษะพื้นฐานที่ดี สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็งและมีความสุข โดยอาจส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านการผลิตและพัฒนาครูนำแนวทางการสอนดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการสอนในคณะครุศาสตร์ รวมถึงประยุกต์ใช้กับครูประจำการในโรงเรียนในพื้นที่ พัฒนาให้บุคลากรด้านการศึกษาเข้าใจแนวทางการสอนที่เหมาะสมกับเด็ก นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงไปถึงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กเพื่อบ่มเพาะเด็กตั้งแต่วัยเยาว์ ทำให้เกิดการพัฒนาตลอดระบบการศึกษาอย่างครอบคลุม นับเป็นการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ให้ตอบโจทย์ประเทศได้

เรื่องล่าสุด