×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เข้าร่วมการประชุม Joint Session of the IBC and the IGBC ในฐานะผู้แทนประเทศไทย ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

สอวช. เข้าร่วมการประชุม Joint Session of the IBC and the IGBC ในฐานะผู้แทนประเทศไทย ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

วันที่เผยแพร่ 28 กันยายน 2022 420 Views

เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2565 ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ และ ดร.สุนทรี นามลิวัลย์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย ฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ สอวช. เข้าร่วมการประชุมร่วมของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรมและคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยชีวจริยธรรม (The Joint Session of the International Bioethics Committee (IBC) and the Intergovernmental Bioethics Committee (IGBC)) ซึ่งจัดขึ้นในช่วงการประชุมวาระสาธารณะ (Public Meeting) ของ IBC ครั้งที่ 29 และการประชุมวาระพิเศษของคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (World Commission on the Ethics of Scientific Knowledge and Technology: COMEST) ครั้งที่ 12 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

ที่ประชุมได้หารือแนวทางการดำเนินงานด้านชีวจริยธรรมและจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และพิจารณาการเปิดตัวรายงานของ IBC และ COMEST ในหัวข้อสำคัญ จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ ประเด็นด้านจริยธรรมของเทคโนโลยีประสาท (Report of the IBC on Ethical Issues of Neurotechnologies) หลักการในการปกป้องคนรุ่นอนาคต (Report of the IBC on the Principle of Protecting Future Generations) จริยธรรมและผลกระทบทางจริยธรรมของอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (Report of COMEST on Ethics of Internet of Things (IoT)) และจริยธรรมการใช้ที่ดิน (Report of COMEST on Land-Use Ethics) อีกทั้ง ยังได้แลกเปลี่ยนทัศนะเพื่อการปรับปรุงร่างรายงานในหัวข้อที่น่าสนใจและสำคัญระดับโลก จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ บทเรียนที่เรียนรู้จากการระบาดใหญ่ของ COVID-19  (Preliminary Draft Report of the IBC on the Lessons Learnt from the COVID-19 Pandemic) หลักภราดรภาพ/ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความร่วมมือ (Preliminary Draft Report of the IBC on the Principle of Solidarity and Cooperation) วิทยาศาสตร์และสังคมในบริบทของการระบาดของ COVID-19 (Preliminary Draft Report of COMEST on Science and Society in the Context of the COVID-19 Pandemic) และจริยธรรมของวิศวกรรมสภาพภูมิอากาศ (Preliminary Draft Report of COMEST on the Ethics of Climate Engineering)

ในโอกาสนี้ รองผู้อำนวยการ สอวช. ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในวาระที่เป็นสมาชิก IGBC ปี 2562-2566 ได้กล่าวถ้อยแถลงเพื่อสนับสนุนข้อเสนอแนะของ IBC เกี่ยวกับร่างหลักการของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (Principle of Solidarity) ว่าเป็นวาระร่วมสมัยซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้กำหนดนโยบายในการออกแบบ/กำหนดนโยบายเพื่อการฟื้นฟูประเทศในยุคหลังโควิด-19 และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในระยะกลางและระยะยาว นอกจากนี้ ยังได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับประเด็นทางจริยธรรมร่วมสมัย และการปรับปรุงร่างหลักการของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันว่า ข้อเสนอแนะด้านจริยธรรมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์แบบเปิดและนวัตกรรม (Open Science and Innovation) มีความสำคัญมากสำหรับการออกแบบและพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยประเทศไทยขอเรียกร้องให้ IBC และ UNESCO ร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ของ UN เพื่อบรรจุประเด็นทางจริยธรรม (Ethical Aspect) ให้เป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์สำหรับโครงการพัฒนาระหว่างประเทศและการริเริ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับความร่วมมือใต้-ใต้ เหนือ-ใต้ และ
ความร่วมมือสามฝ่าย (South-South, North-South and Triangular Cooperations) นอกจากการส่งเสริมวิทยาศาสตร์แบบเปิดแล้ว การสนับสนุนนวัตกรรมแบบเปิดเพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น (Open Innovation for Inclusive Development) รวมถึงการวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ควรจำกัดการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาแบบเปิด (Open Intellectual Property: Open IP) ไว้เพียงระดับชาติเท่านั้น แต่ควรขยายขอบเขตไปสู่การพัฒนาระหว่างประเทศด้วยหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) และการส่งเสริมผู้ประกอบการท้องถิ่น (Local Entrepreneurship) ให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีจริยธรรมและยั่งยืนเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นได้รับพลังขับเคลื่อนและพัฒนาบนพื้นฐานของค่านิยมร่วม (Shared Values) และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว (Solidarity) ไปพร้อมกัน

ในการนี้ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธาน IGBC ในช่วงระหว่างปี 2555-2558 ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในสมาชิก IBC ของยูเนสโก วาระปี 2563-2566 อันเป็นการดำรงตำแหน่งสมาชิกเป็นวาระที่ 2 วาระแรกระหว่างปี 2559-2562 ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมฯ โดยเน้นย้ำการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง IBC และ COMEST อย่างเข้มแข็งและเป็นเอกภาพในการพัฒนาความคิดริเริ่มเชิงบรรทัดฐานและนโยบาย (Normative and Policy Initiatives)ตลอดจนการเรียนรู้บทเรียนจากการระบาดของ COVID-19 ซึ่งปัจจุบันบรรจุเป็นวาระสำคัญของทั้ง IBC และ COMEST ดังปรากฏในร่างรายงาน 2 เรื่อง ได้แก่ Preliminary Draft Report of the IBC on the Lessons Learnt from the COVID-19 Pandemic และ Preliminary Draft Report of COMEST on Science and Society in the Context of the COVID-19 Pandemic ด้วยเหตุนี้ จึงควรมีการหารือและดำเนินงานร่วมกันซึ่งนอกเหนือจากการนำเสนอ แลกเปลี่ยนข้อมูล รับฟังและเสนอแนะความเห็นแก่กันและกันแล้ว IBC และ COMEST สามารถออกแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) ซึ่งสะท้อนเจตนารมณ์ทางวิชาการร่วมกันที่จะกระชับและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย โดยความเห็นและข้อเสนอแนะข้างต้นของ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ได้รับความชื่นชมจากประธานการประชุมฯ ว่า เป็นข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์และดีเยี่ยม ซึ่งได้รับการยืนยันว่า ที่ประชุมจะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของคณะกรรมการทั้งสองต่อไป นอกจากนี้ ในฐานะสมาชิก IBC ของยูเนสโก/การมีส่วนร่วมในระดับบุคคล ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ยังได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะแก่ที่ประชุมในวาระสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเข้าร่วมการประชุมวาระสาธารณะของ IBC ครั้งที่ 29 (The Public Meeting of the 29th Ordinary Session of the International Bioethics Committee) ซึ่งจัดคู่ขนานกับการประชุม Joint Session of the IBC and the IGBC ระหว่างวันที่ 19-23 กันยายน 2565 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส อีกด้วย

อนึ่ง องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เป็นองค์การที่ดำเนินงานด้านการส่งเสริมการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ ซึ่งขอบเขตของงานครอบคลุมวาระสำคัญในมิติสังคมและจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีคณะกรรมการ 3 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม (International Bioethics Committee: IBC) คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยชีวจริยธรรม (Intergovernmental Bioethics Committee: IGBC) และคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (World Commission on the Ethics of Scientific Knowledge and Technology: COMEST) คณะกรรมการทั้งสามมีหน้าที่หยิบยกประเด็นสำคัญด้านจริยธรรมที่เกี่ยวโยงกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อสังคมและประชาคมระหว่างประเทศ บนพื้นฐานหลักการของสหประชาชาติ รวมถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights (UDHR) 1948) และหลักการอื่น ๆ ด้านจริยธรรมที่เป็นที่ยอมรับโดยสากล ทั้งนี้ ประเทศไทยมีบทบาทที่โดดเด่นและสร้างสรรค์

ทั้งในระดับประเทศ องค์กรและบุคคลซึ่งทำงานด้านจริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับยูเนสโกมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมและเอกสารประกอบการประชุม The Joint Session of the International Bioethics Committee (IBC) and the Intergovernmental Bioethics Committee (IGBC)  ได้ที่ https://events.unesco.org/event?id=2988109799

Tags:

เรื่องล่าสุด