messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » 3 พันธมิตร โต้โผหลักพัฒนาระบบรองรับความต้องการกำลังคนแบบ Tailor-made มั่นใจ! ปลดล็อคปัญหาบุคลากรระดับกลางในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ เร่งสร้างนวัตกรรมร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

3 พันธมิตร โต้โผหลักพัฒนาระบบรองรับความต้องการกำลังคนแบบ Tailor-made มั่นใจ! ปลดล็อคปัญหาบุคลากรระดับกลางในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ เร่งสร้างนวัตกรรมร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

วันที่เผยแพร่ 19 เมษายน 2019 1666 Views

 (19 เม.ย. 62) อาคารจามจุรีแสควร์ กรุงเทพฯ – สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จับมือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการวิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม (Science for Industry:   Sci-FI)” ประกาศเจตนารมณ์ สร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบด้วยกำลังคนแบบ Tailor-made โดยระยะแรกเน้นการสร้างบุคลากรระดับกลางในอุตสาหกรรม (Middle Manager) ที่มีความสามารถตรงกับตำแหน่งที่อุตสาหกรรมต้องการ ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องการความสามารถด้าน process improvement และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความสามารถด้าน product design ในระยะยาวเน้นการพัฒนากำลังคนให้สามารถเติบโตได้ด้วยจากความรู้ความสามารถแบบสหสาขาวิชา (Multidisciplinary) ทั้งเชิงเทคนิคและเชิงการบริหารจัดการ โดยนำร่องจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ของ สวทช.  โดยมี สวทน. ร่วมสนับสนุนผลักดันให้เกิดการการทำงานร่วมกันทั้งด้านกำลังคนและการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นอย่างเห็นรูปธรรมแก่ภาคอุตสาหกรรม โครงการ Sci-FI จะเป็นรากฐานของการสร้างนวัตกรรมในอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นควบคู่กับการผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถในสถานศึกษาเพื่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. เปิดเผยว่า จากแผนการพัฒนาประเทศไทย 4.0 พบว่า วิทยาศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในยุคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นยุคก้าวกระโดดที่ต้องการกำลังคนที่มีความรู้หลากหลายด้านและสามารถผสมผสานกันเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ให้กับสถานประกอบการ แต่ต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่สามารถผลิตกำลังคนที่มีทักษะตรงตามความต้องการได้ในทันทีภายหลังจากสำเร็จการศึกษา ทำให้สถานประกอบการประสบปัญหาการขาดแคลนกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถและทักษะเฉพาะด้าน โดยเฉพาะบุคลากรระดับกลาง (Middle Manager/Engineer) ในสถานประกอบการ ที่ต้องการผู้ที่มีความรู้ทั้งด้านกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม (Production Process) และการบริหารจัดการเทคโนโลยี (Technology Management) ทำให้ยากต่อการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และกระบวนการ (Product-Process of Innovation) ขณะเดียวกันในด้านสังคมและวัฒนธรรมพบว่าคนรุ่นใหม่มีแนวคิด และทัศนคติในการทำงานแตกต่างจากเดิม มองหาโอกาสและความท้าทายมากขึ้น ทำให้การทำงานแบบดั้งเดิมในระบบที่เป็นการแยกส่วน มองไม่เห็นความเชื่อมโยงทั้งกระบวนการและใช้เวลานานในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่เป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่ เกิดปัญหาการเปลี่ยนงานในระยะเวลา 1-2 ปีแรกสูง ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนในการพัฒนากำลังคนสูงขึ้น ดังนั้นหากสามารถพัฒนารูปแบบความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมและการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างเป็นระบบที่เข้ากันได้อย่างพอดี ทั้งในด้านทัศนคติการทำงาน และระบบที่ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะไปพร้อมกันจะสามารถลดปัญหาเหล่านี้ได้ในระดับประเทศ โดยในขั้นแรกจำเป็นต้องกำหนดจุดเริ่มต้นในแก้ปัญหาด้านกำลังคนของภาค  อุตสาหกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจนและเป็นขั้นตอน เกิดเป็นระบบที่มีความต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการใช้โจทย์ปัญหาจริงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมในการทำงานร่วมกันกับมหาวิทยาลัย

“จากประเด็นปัญหาข้างต้น สวทน. จุฬาฯ และ สวทช. จึงได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา โดยใช้โครงการวิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม (Science for Industry: Sci-FI) เป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาระบบการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นการสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ และสามารถพัฒนาไปสู่แพลตฟอร์ม (Platform) ด้านกำลังคนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรระดับกลาง (Middle Manager) ในอุตสาหกรรม อันเป็นรากฐานของการสร้างนวัตกรรมในอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นควบคู่กับการผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึกในสถานศึกษาเพื่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” ดร.กิติพงค์ กล่าว

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการ Sci-FI มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาวิจัยขั้นสูงที่ตอบรับความต้องการด้านกำลังคนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศผ่านการสร้างฐานรากนวัตกรรมที่เข้มแข็งผ่านการทำงานร่วมกันของสถาบันการศึกษา องค์การด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนโยบายของรัฐ และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ใหม่เชิงอุตสาหกรรมที่มีพื้นฐานการต่อยอดจากการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่เป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบ (Prototype) นวัตกรรมการเรียนรู้ ที่มุ่งสู่เป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมชั้นนำที่มุ่งสร้างสรรค์ความรู้และผลผลิตจากการศึกษาวิจัย รวมถึงการพัฒนาบัณฑิตที่เป็นนวัตกรอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นก้าวแรกของการมุ่งสู่ระบบการศึกษา Thailand 5.0 และสามารถเป็นต้นแบบที่สามารถขยายผลแก่สถาบันการศึกษาผ่านเครือข่ายความร่วมมือ โดยจุฬาฯ จะพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการและหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาปริญญาโทอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนที่เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการ โดยระยะแรกมุ่งเน้นการแก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรมผ่านการทำวิจัยของนิสิตที่ปฏิบัติงานในสถานประกอบการ และระยะยาวมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านนวัตกรรมอุตสาหกรรมเพื่อสร้างเสริมสังคมไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) พร้อมทั้งจะสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้อาจารย์/บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญได้เข้าร่วมโครงการ โดยใช้กลไกการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาปริญญาโทในการพัฒนางานนวัตกรรมอุตสาหกรรมร่วมกับสถานประกอบการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและ/หรือการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ อันนำไปสู่เครือข่ายความร่วมมืองานวิจัยที่เพิ่มขึ้นทั้งเชิงกว้างและเชิงลึกระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม  

ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ในการสร้างความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมนั้น สวทช. ได้เล็งเห็นความสำคัญเร่งด่วนในการพัฒนากำลังคนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยไปสู่ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมา สวทช. มีโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้วในการสนับสนุนด้านการพัฒนากำลังคน เช่น สถาบันวิทยาการ (NSA) โครงการพัฒนาบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (TGIST) เป็นต้น สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการขยายการดำเนินงานร่วมกับภาคการศึกษาหลักของประเทศ ในโครงการวิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม (Science for Industry: Sci-FI) ซึ่งได้บูรณาการความร่วมมือกับ สวทน. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มและระบบการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นการสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมระดับกลาง โดย สวทช. จะใช้กลไกของ ITAP (หน่วยงานภายใต้ สวทช. ที่ช่วยให้ SME สามารถทำนวัตกรรมได้ รวมทั้งยกระดับเทคโนโลยีการผลิต โดยมีภารกิจในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการเทคโนโลยี (Technology Service Providers) กับผู้ใช้เทคโนโลยี (Technology Users) ในรูปแบบของการจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเข้าไปให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาถึงในโรงงานเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ การดำเนินโครงการประกอบด้วย ขั้นตอนการคัดเลือกผู้ประกอบการ ขั้นตอนการวินิจฉัยปัญหาเบื้องต้น และการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกรายบริษัท ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงการประเมินผลโครงการ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับแนวคิดโครงการ “วิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม หรือ Science for Industry: Sci-FI” เป็นโครงการที่รับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์ เพื่อทำงานในสถานประกอบการเป็นระยะเวลา 2 ปี ในตำแหน่งผู้ช่วยวิศวกร ผู้ช่วยหัวหน้างาน หรือผู้ช่วยหัวหน้าแผนก กับสถานประกอบการที่มีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงกระบวนการผลิต หรือออกแบบ ทดลอง ทดสอบ หรือวิจัยนวัตกรรมใหม่ โดยในขณะเดียวกัน นิสิต Sci-FI ก็จะเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม (Science for Industry: Sci-FI) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ควบคู่ไปด้วยกับการทำงาน ทั้งนี้ ระหว่างโครงการระยะเวลา 2 ปี คณาจารย์หลักสูตร Sci-FI สามารถให้คำปรึกษา ร่วมดำเนินการ หรือร่วมพัฒนา ปรับปรุง ทดสอบ และร่วมวิจัยในหัวข้อที่สถานประกอบการสนใจได้ ซึ่งจะถือเป็นส่วนของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท อย่างไรก็ตาม โครงการ Sci-FI เป็นโครงการที่ต่างจากการฝึกงานทั่วไป โดยปกติแล้วการฝึกงานระยะสั้นจะไม่สามารถทำให้นิสิตปฏิบัติงานได้เช่นพนักงานทั่วไป และความสนใจของนิสิตในการฝึกงานจะมีน้อย เนื่องจากพอหมดระยะเวลาการฝึกงานแล้วก็ต้องกลับไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย ในขณะที่ Sci-FI กำหนดให้นิสิตปฏิบัติงานให้สถานประกอบการเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นเวลาให้นิสิต Sci-FI ปฏิบัติงานให้แก่สถานประกอบการได้อย่างคุ้มค่ากับทรัพยากรที่สถานประกอบการลงทุน โดยสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะต้องจ่ายค่าตอบแทนนิสิตเป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท

รูปแบบของโครงการ Sci-FI จะเป็นการพลิกโฉมแนวคิดการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการอย่างแท้จริง โดยสถานประกอบการจะได้บุคลากร (นิสิต) ที่มีทักษะตรงกับงานมามาปฏิบัติงานเต็มเวลา รวมถึงร่วมแก้ปัญหาหรือพัฒนาด้านต่างๆ ร่วมกับบุคลากรในสถานประกอบการเอง โดยผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี หรืออาจารย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำตลอดระยะเวลาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งโครงการรูปแบบดังกล่าวจะสร้างผลกระทบทางบวกให้กับภาคอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยมากกว่าการนำเพียงโจทย์วิจัยจากสถานประกอบการมาทำวิจัยในมหาวิทยาลัยเท่านั้น และยังสามารถเปลี่ยนความคิดของผู้ศึกษาจบในระดับปริญญาตรี จาก “เรียนจบตรีแต่ไม่รู้จะทำอะไร” มาเป็น “เรียนต่อโทและทำงานในอุตสาหกรรม” ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ สถานประกอบการ และ นิสิต นักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริหารโครงการ Sci-FI คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.ประเสริฐ เรียบร้อยเจริญ …//

Tags:

เรื่องล่าสุด