×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » การริเริ่มความร่วมมือระหว่าง กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

การริเริ่มความร่วมมือระหว่าง กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

วันที่เผยแพร่ 12 สิงหาคม 2022 766 Views

(10 สิงหาคม 2565) ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ได้รับเชิญเป็นหนึ่งในผู้กล่าวเปิดงาน Launch of the Co-Creation Process จัดโดย คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) นับเป็นกิจกรรมแรกภายใต้โครงการ “South-South and Triangular Collaboration Programme on Science, Technology and Innovation among Cambodia, Lao PDR, Thailand and Viet Nam” โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนจากทั้ง 4 ประเทศ

ในมุมของประเทศไทย ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับความท้าทายมากมายที่เกิดขึ้นบนโลก ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาสังคม ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เป็นกลไกในการขับเคลื่อนที่สำคัญ ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ประเทศไทยได้นำเอานโยบายด้าน วทน. เข้ามาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถภายในประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องการความรู้ด้านนวัตกรรมและโมเดลการพัฒนาใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติมด้วย โดย สอวช. มีบทบาทในการกำหนดและสนับสนุนการพัฒนาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ วทน. เพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการประสานงาน ทำงานร่วมกับหน่วยงานด้าน วทน. ทั้งของไทยและระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดร. กิติพงค์ ยังได้กล่าวถึง โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระสำคัญของชาติ เป็นแนวคิดการนำ วทน. ไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างทั่วถึงและยั่งยืน นับเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ซึ่งการสร้างความร่วมมือระหว่าง กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย นี้ จะเป็นการขยายการใช้เทคโนโลยี และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ นำไปสู่การสร้างโมเดลเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อโลกและประชาชนทุกคน

นอกจากนี้ ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้รับเชิญให้เป็นคณะกรรมการกำกับโครงการ ยังได้ให้มุมมองเชิงนโยบาย โดยได้กล่าวถึงการสร้างความร่วมมือในระดับบุคคล เพื่อให้เกิดการทำงานในเชิงลึกและเกิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ยั่งยืน ซึ่งเทคโนโลยีด้านดิจิทัลในปัจจุบัน สามารถเอื้อให้เกิดการทำงานระหว่างประเทศได้อย่างสะดวก นอกจากนั้น ดร. พิเชฐ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง โดยมีภาครัฐบาลให้การสนับสนุน

สำหรับโครงการข้างต้น มีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความร่วมมือซึ่งก่อให้เกิดพันธมิตรที่ได้รับประโยชน์ร่วมกัน สร้างโอกาส และแก้ปัญหาที่แต่ละประเทศเผชิญ โดยเน้นการพัฒนาความสามารถด้าน วทน. ระหว่างกัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย โดยความริเริ่มจากโครงการนี้ รวมถึงเครือข่ายวิจัยและฝึกอบรมด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Research and Training Network on Science, Technology and Innovation Policy: ARTNET on STI) ซึ่ง สอวช. ร่วมก่อตั้ง จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดนโยบายที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคได้

เรื่องล่าสุด