messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เผยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนกับโอกาสทางธุรกิจในเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

สอวช. เผยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนกับโอกาสทางธุรกิจในเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

วันที่เผยแพร่ 27 กรกฎาคม 2022 983 Views

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ดร. ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้เชี่ยวชาญนโยบายอาวุโส ฝ่ายนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน และ ดร. ธนาคาร วงษ์ดีไทย ผู้เชี่ยวชาญนโยบายอาวุโส ฝ่ายยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ นวัตกรรม สังคมและความร่วมมือ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ร่วมเสวนาพิเศษในหัวข้อ “โอกาสทางธุรกิจจากระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” เป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาทักษะการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2565 (The 14th Thailand Robot Design Camp: RDC 2022) ภายใต้ธีม “มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” ซึ่งในปีนี้มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการผ่านระบบออนไลน์กว่า 65 คน จากสถาบันการศึกษา 9 แห่งทั่วประเทศ

ดร. ศรวณีย์ เล่าถึงที่มาของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE) ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy) ที่ถูกประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติของไทยที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจเส้นตรง หรือ Linear Economy คือการนำทรัพยากรธรรมชาติมาผลิต ใช้ เมื่อใช้เสร็จก็ทิ้ง และเข้าสู่กระบวนการกำจัด แต่ในทางกลับกัน เศรษฐกิจหมุนเวียน จะเป็นการทำให้เกิดวงจรหมุน ให้ทรัพยากรสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ให้ความสำคัญกับการทำให้ทรัพยากรกลับไปอยู่ที่เดิม ทำให้เกิดขึ้นใหม่ หรืออาจใช้วัสดุอื่นมาทดแทน แนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงมีความเกี่ยวข้องกับการจัดการขยะ/ของเสีย (waste management) เพราะนอกจากจะช่วยเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ยังลดการเกิดขยะได้อีกด้วย

หากอ้างอิงตาม Butterfly Model ของ Ellen MacArthur Foundation จะแบ่งหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือการลดการใช้วัตถุดิบใหม่ ไปใช้วัตถุดิบที่หมุนเวียนได้ ลดปริมาณวัตถุดิบลง หรือใช้วัตถุดิบอื่นทดแทน ส่วนที่สอง คือการคงคุณค่าผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและวัสดุ โดยแบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่ง Biological cycles ในกลุ่มสินค้าเกษตร วัสดุที่เหลือของการเกษตร วัสดุชีวภาพที่รีไซเคิลไม่ได้ ในกลุ่มนี้จะมีกระบวนการผลิต ที่สามารถสกัดวัตถุดิบบางอย่างให้ไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตของอีกอย่างหนึ่งได้ หรือถ้าไม่สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบได้ก็สามารถนำไปผลิตเป็นพลังงาน จำพวกไบโอแก๊ส หรือสร้างให้เกิดจุลินทรีย์ที่นำไปผลิตสินค้าอื่น หรือนำไปเติมให้เกิดเชื้อเพลิงได้ และฝั่ง Technical cycles จะมีโมเดลในการแบ่งปันการใช้งาน การรักษา หรือยืดอายุการใช้งานของสิ่งของ โดยใช้หลักวิศวกรรมศาสตร์เข้ามาช่วย รวมไปถึงกระบวนการหรือการใช้ซ้ำ นำกลับมาซ่อมแซม หรือรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และส่วนที่สาม คือการลดผลกระทบทางลบให้เหลือน้อยที่สุด และเกิดมลพิษน้อยที่สุด

แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1713 ที่เริ่มมองเห็นถึงความสำคัญในการสร้างความยั่งยืน และในปี 1966 เริ่มมีแนวคิด Closed economy ที่จะทำอย่างไรให้ทรัพยากรอยู่ได้นานที่สุด พัฒนามาจนถึงปี 1989 ที่เริ่มนำแนวคิด Circular economy มาใช้ จนถึงในปี 2015 ที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เริ่มนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้เป็นแผนปฏิบัติการ (Action plan) ซึ่งเมื่อเข้าไปเป็นมาตรการของสหภาพยุโรป (European Union: EU) ทำให้เกิดเป็นเงื่อนไขในการค้าขายสินค้า เกิดการแบนวัตถุดิบบางอย่างที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มให้ความสำคัญว่าสินค้าแต่ละชนิดมีกระบวนการผลิตอย่างไร และมีวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานที่เป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือไม่ ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้ก็ได้ถูกดึงมาเป็นมาตรฐานในการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศด้วย หากไม่ปฏิบัติตามก็จะไม่สามารถซื้อขายสินค้าได้ ทำให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องหันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในการผลิตสินค้ามากขึ้น

สำหรับระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย แบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือด้านนโยบาย ในการเกิดเป็นข้อตกลง/ข้อริเริ่มของภาคเอกชน ในระดับนานาชาติ รวมถึงกฎระเบียบ/พันธกรณี ระดับระหว่างรัฐบาล ที่ไปสู่การกำหนดเป้าหมายในระดับประเทศ ส่วนต่อมาคือด้านโครงสร้างและปัจจัยเอื้อ คือการพัฒนาขีดความสามารถ ระบบการรับรองคุณสมบัติ/มาตรฐาน โปรแกรมการวิจัยและพัฒนา กฎระเบียบและแรงจูงใจทางการเงิน/การคลัง เครื่องมือการลงทุน การส่งเสริมการขายและการส่งออก ด้านที่สาม คือ ผู้ประกอบการที่ต้องออกแบบโมเดลธุรกิจใหม่ ตั้งแต่กระบวนการเลือกวัตถุดิบ ไปจนถึงขั้นตอนการผลิต การขายและการเก็บกลับ ปรับวงจรการใช้ทรัพยากรใหม่ เปลี่ยนวัตถุดิบในการผลิตใหม่ ที่ต้องคำนึงถึงการผลิตใช้ซ้ำ โดยคิดตั้งแต่ต้นทาง ผ่านการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้ามาช่วย อีกทั้งยังต้องใช้ข้อมูลและแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนการใช้วัตถุดิบ และในด้านที่สี่ คือประชาชน ที่ต้องสร้างความตระหนักในการขับเคลื่อนเชิงสังคม พฤติกรรมการบริโภค และการจัดเก็บวัสดุส่งคืนผู้ผลิต

ตัวอย่างโมเดลธุรกิจที่ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น Repair Service บริการรับซ่อม ที่ใช้โอกาสจากช่องว่างในการช่วยยืดอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์และวัสดุ, Second-hand Trader ขายของมือสอง, Material Recycling ธุรกิจรีไซเคิล, Access Model จ่ายเมื่อต้องใช้งาน อาทิ ร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ เป็นต้น ในส่วนของธุรกิจยานยนต์ ประเทศใน EU เริ่มสนใจการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมานานแล้ว โดยมี 6 โมเดลที่นำมาใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ Regenerate, Share, Optimize, Loop, Virtualize, และ Exchange

ด้าน ดร. ธนาคาร ได้กล่าวถึงประเด็นการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีกลุ่มอุตสาหกรรมระบบคมนาคมแห่งอนาคต จากกระแสการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี ทำให้ในปัจจุบันมีการวางนโยบายในระดับโลก ที่ EU กำหนดให้เลิกผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันภายในปี 2035 ดังนั้นรถยนต์ทุกยี่ห้อในยุโรปหลังปี 2035 จะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือใช้พลังงานสะอาดรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่น้ำมัน ส่งผลให้ในประเทศไทย ผู้ประกอบการที่ส่งออกวัสดุ หรือชิ้นส่วนประกอบในรถยนต์ ต้องมีการปรับตัว เพราะตลาดใหญ่ในภูมิภาคสำคัญของโลกกำลังจะหายไป นี่จึงถือเป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคามหากประเทศไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงและยังคงยึดติดกับเทคโนโลยีรูปแบบเดิม

ตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) และประกาศเป้าหมายสำคัญคือประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก ซึ่งในส่วนของสาขาการขนส่ง คณะกรรมการแห่งชาติด้านยานยนต์ไฟฟ้าประกาศเป้าหมายว่าในปี 2030 30% ของรถในประเทศไทยต้องเป็นรถไฟฟ้า และจะต้องเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด 100% ในปี 2035 ดังนั้น หากจะทำให้เป้าหมายนี้เกิดขึ้นได้จริง ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง

สำหรับโอกาสและเป้าหมายในการประกอบธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าให้ไปสู่เชิงพาณิชย์ มองเห็นโอกาสใน 4 กลุ่มสินค้า คือ แบตเตอรี่, การทำยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion), การออกแบบยานยนต์ไฟฟ้ารูปแบบใหม่ (EV New Design), และการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Open Platform) เพื่อเป็นโอกาสของสตาร์ทอัพในการเติบโตในอุตสาหกรรมนี้ได้ในอนาคต

ปัจจุบันหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มีโปรแกรมการให้ทุนในด้านการคมนาคมแห่งอนาคต (Future mobility) และหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics and automation) ที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและผลักดันธุรกิจไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยมีตัวอย่างโครงการที่ บพข. ให้การ สนับสนุน เช่น โครงการผลิตรถไฟฟ้ารางเบา, รถบรรทุกไฟฟ้าดัดแปลง/รถบรรทุกไฟฟ้า ซึ่งได้มีการนำไปจัดแสดงภายในงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 43 ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาด้วย นอกจากนี้ยังมีโครงการที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าไทย และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ในการพัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรมการผลิตรถโดยสารไฟฟ้า จากรถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ขสมก. (City transit E-buses) หรือ EV Bus ครั้งแรกในไทยจำนวน 4 คัน เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาด้วย รวมถึงในอนาคต กระทรวง อว. ยังมีแนวทางจัดทำโครงการผลิตคู่มือการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้าให้กับอู่รถยนต์ทั่วประเทศไทย โดยใช้เงินทุนของรัฐในการทำวิจัย เพื่อลดความสี่ยง และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ผ่านการทดสอบความปลอดภัยและมี best practice ของรถยนต์ที่ใช้งานได้จริงออกมาเป็นตัวอย่างให้สามารถนำไปทำตามได้ ถือเป็นอีกหนึ่งแนวคิดเพื่อสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศไทยต่อไป

เรื่องล่าสุด