×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. – มจธ. ติวเข้มนโยบายคนรุ่นใหม่ หวังสร้างเครือข่ายบุคลากรขับเคลื่อนประเทศต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 4

สอวช. – มจธ. ติวเข้มนโยบายคนรุ่นใหม่ หวังสร้างเครือข่ายบุคลากรขับเคลื่อนประเทศต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 4

วันที่เผยแพร่ 14 กุมภาพันธ์ 2022 869 Views

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดอบรมหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รุ่นที่ 4 (Science Technology and Innovation Policy Design Training Program: STIP04) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ในรูปแบบ Hybrid Learning ผสมผสานระหว่างการเรียนออนไลน์และการเรียนออนไซต์ ผ่านแพลตฟอร์ม STIPIAcademy.com โดยการอบรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหลักสูตรด้านนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับชาติ โดยหน่วยงานต่างๆ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงาน หรือใช้ในการยกระดับศักยภาพของบุคลากรได้ รวมถึงเป็นการสร้างให้เกิดเครือข่ายนักพัฒนานโยบายด้าน อววน. ของประเทศ เพื่อช่วยขับเคลื่อนองค์กรและประเทศไปข้างหน้า

ประเดิมการบรรยายหลักสูตรครั้งแรกได้รับเกียรติจาก ดร. ญาดา มุกดาพิทักษ์ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ สอวช. บรรยายในหัวข้อ Public Policy, Policy Making Process และ Public Policy Analysis โดย ดร. ญาดา ได้สะท้อนให้เข้าใจถึงความหมายของ Public Policy หรือนโยบายสาธารณะ ที่เป็นนโยบายที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง ตัวผู้กำหนดนโยบายต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสาธารณะให้มาก การกำหนดนโยบายส่วนนี้จึงต้องผ่านหลายกระบวนการ มีหลักการในการดำเนินงานที่ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะไปสู่ขั้นการนำไปใช้จริง

สำหรับกระบวนการในการกำหนดนโยบายสาธารณะ เริ่มตั้งแต่การระบุประเด็นปัญหา การจัดทำนโยบาย การนำนโยบายไปใช้ ไปจนถึงกระบวนการติดตามและประเมินผลนโยบายนั้นๆ เพื่อนำมาสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบายให้ดีขึ้นหรือเหมาะสมกับสถานการณ์การนำไปใช้จริง ดังนั้นผู้ที่มาเข้าร่วมการอบรม หากอยู่ในหน่วยงานที่มีบทบาทในการวิเคราะห์หรือเสนอแนะนโยบาย ต้องมองครอบคลุมทุกขั้นตอน ส่วนหน่วยงานที่ดูแลในส่วนอื่นๆ แม้บทบาทจะไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะทุกภาคส่วนต่างเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้กระบวนการกำหนดนโยบายเป็นไปได้อย่างราบรื่น โดยในการจัดการอบรมครั้งนี้ยังได้มีการจัดแบ่งกลุ่มทำเวิร์กชอป ให้ผู้เข้าอบรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการทำนโยบาย มองในเรื่องที่เป็นปัญหาหรือโอกาสของประเทศที่ควรให้ความสำคัญ และระดมความเห็นเพื่อออกแบบนโยบายตามกระบวนการจัดทำนโยบายข้างต้นอย่างครบวงจร

นอกจากนี้ ดร. ญาดา ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือในการกำหนดนโยบายที่มีหลายรูปแบบนอกจากวิธีการทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) ตัวอย่างเช่น การคาดการณ์อนาคต การระดมความเห็น หรือการวิจัยเชิงระบบ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายได้อย่างตรงจุด ตรงกับบริบทสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงดำเนินกระบวนการติดตามและประเมินผลนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับหลักสูตร STIP รุ่นที่ 4 มีผู้เข้าร่วมหลักสูตรกว่า 60 คน จากกว่า 15 หน่วยงาน โดยจะจัดการเรียนการสอนขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 24 สัปดาห์ แบ่งการเรียนออกเป็น 4 ช่วง ช่วงที่ 1 เป็นการเรียนรู้กระบวนการนโยบายและรูปแบบการพัฒนานโยบาย ช่วงที่ 2 ปูพื้นความรู้เชิงวิชาการและทฤษฎีพื้นฐาน ช่วงที่ 3 ประสบการณ์การขับเคลื่อนและทฤษฎีพื้นฐาน และช่วงที่ 4 เป็นการพัฒนาข้อเสนอนโยบาย

เรื่องล่าสุด