×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย ตอนที่ 3

ขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย ตอนที่ 3

วันที่เผยแพร่ 10 กุมภาพันธ์ 2022 1720 Views

ต่อเนื่องจากบทความขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของไทย ในตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ได้นำเสนอขีดความสามารถด้าน ววน. ไปแล้ว รวม 10 ด้าน ในครั้งนี้มาถึง 5 ด้านสุดท้าย ที่ สอวช. จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจไปพร้อมกัน ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์, อุตสาหกรรมวัสดุขั้นสูง, การวิจัยขั้นแนวหน้าด้านเทคโนโลยีควอนตัม, การวิจัยขั้นแนวหน้าด้านระบบโลกและอวกาศ และสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์

1) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมในหลายด้าน โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 ตลาดปัญญาประดิษฐ์ในไทยจะมีมูลค่าประมาณ 1.14 แสนล้านบาท และการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้อาจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 จากร้อยละ 17 ในปี 2562

ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม จากรายงานผลดัชนีชี้วัดความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาลทั่วโลก ในปี 2563 ของสถาบันวิจัย Oxford Insights จัดอันดับประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 60 จาก 172 ประเทศทั่วโลกที่เป็นสมาชิก OECD และอยู่ในลำดับที่ 7 จาก 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเทียบจากดัชนีชี้วัดความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาล ซึ่งจากการประเมินพบว่า ประเทศไทยค่อนข้างมีจุดแข็งในด้านข้อมูล ส่วนในด้านการศึกษาและด้านทักษะและนวัตกรรม มีศักยภาพอยู่ในระดับปานกลาง ในขณะที่ด้านการผลักดันนโยบายและกำกับดูแลของภาครัฐยังอยู่ในระดับที่ยังต่ำ ในส่วนการวิจัยของสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และได้มีการนำผลงานการวิจัยและนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ไปประยุกต์ใช้งานจริงทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

แนวทางการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม ได้แก่ การสร้างกำลังคนเชี่ยวชาญและการพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับงานที่ใช้ทักษะสูงและเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อีกทั้งสถาบันการศึกษาจำเป็นต้องพัฒนาให้มีความสามารถในการจัดหลักสูตรศึกษาและหลักสูตรฝึกอบรมด้านปัญญาประดิษฐ์ให้ทันตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ตลอดจนการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสนับสนุนการวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ในระดับประเทศ นอกจากนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐานต่างๆ ให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาและใช้งานปัญญาประดิษฐ์ที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และการสร้างพื้นที่ทดลองทดสอบ (Sandbox) เพื่อให้มีโอกาสลองนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างสะดวก

2) อุตสาหกรรมวัสดุขั้นสูง (Advanced Materials) เป็นวัสดุใด ๆ ที่ผ่านการควบคุม ให้มีโครงสร้างที่แม่นยำและเฉพาะเจาะจงทำให้เกิดคุณสมบัติพิเศษที่ดีกว่าวัสดุพื้นฐาน หรือทำให้วัสดุมีหน้าที่พิเศษตามความต้องการและควบคุมได้ โดยวัสดุขั้นสูงเหล่านี้ผ่านกระบวนการผลิตและใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เช่น เทคโนโลยีการจัดเรียงอะตอมและโครงสร้างระดับนาโน ทำให้เราสามารถกำหนดและออกแบบคุณสมบัติของวัสดุได้ดียิ่งขึ้น หากประเทศไทยมีความสามารถทางเทคโนโลยีในด้านนี้ก็จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศได้

ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปัจจุบันวัสดุขั้นสูงใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์หลายประเภท เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ รถยนต์ พอลิเมอร์พลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังใช้เป็นวัสดุสำหรับอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น แบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ เครื่องมือแพทย์ เป็นต้นตัวอย่างการดำเนินงานที่ผ่านมาด้านวัสดุนาโนคาร์บอนประเทศไทยมีการวิจัยและสามารถผลิตวัสดุนาโนคาร์บอน (Nano Carbon Materials) ที่ได้จากการแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นต้น ด้านวัสดุเซรามิกขั้นสูงและวัสดุแม่เหล็ก ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDDs) วงจรรวม (Integrated Circuit: IC) ตัวเก็บประจุ (Capacitor) ไดโอด (Diode) ทรานซิสเตอร์ (Transistor) แผ่นวงจรพิมพ์แบบหลายชั้น (Multilayer PCB) ด้านวัสดุพอลิเมอร์ขั้นสูงและนาโนพอลิเมอร์ มีเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกชีวภาพของประเทศไทยเอง โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา ใช้วัตถุดิบชีวมวลที่เป็นพืชผลทางการเกษตร ได้เม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพประเภทพอลิเอสเทอร์เกรดทางการแพทย์ที่สามารถผลิตได้ในห้องปฏิบัติการ เป็นต้น

แนวทางการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ของไทยนั้น ล้วนมีวัสดุขั้นสูงเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาวัสดุขั้นสูง รวมถึงการสร้างนวัตกรรมทางด้านวัสดุจึงควรได้รับการผลักดันให้เป็นแพลตฟอร์มหรือกลุ่มการขับเคลื่อนพื้นฐานการพัฒนาประเทศ (Basis Platform) เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่และการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน

3) การวิจัยขั้นแนวหน้าด้านเทคโนโลยีควอนตัม (Quantum Technology) เทคโนโลยีควอนตัมคือการนำหลักการของควอนตัมฟิสิกส์มาประยุกต์ใช้ในการวัด (มาตรวิทยา) การคำนวณ การประมวลผล การเข้ารหัส การส่งผ่านและเก็บข้อมูลให้มีประสิทธิภาพและศักยภาพสูงกว่าวิธีการดั้งเดิม (Classical Method) เทคโนโลยีควอนตัมยุคใหม่ หรือเทคโนโลยีควอนตัมรุ่นที่ 2 ตั้งอยู่บนความสามารถในการควบคุมสภาวะทางควอนตัมได้อย่างแม่นยำ ปัจจุบันอยู่ในขั้นการวิจัยและพัฒนา และการสร้างต้นแบบ (Prototyping)

ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทย สามารถแบ่งการกลุ่มการพัฒนาเป็น 3 ด้าน คือ 1) การคำนวณและการจำลองเชิงควอนตัม (Quantum Computing and Simulation) 2) การสื่อสารเชิงควอนตัม (Quantum Communication) และ 3) มาตรวิทยาและการวัดเชิงควอนตัม (Quantum Metrology and Sensing) โดยพบว่าไทยมีศักยภาพที่จะก้าวเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศผู้นำในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมและประยุกต์ใช้ในบางสาขาได้ ปัจจุบันมีนักวิจัยที่จบการศึกษาจากสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมจำนวนมาก กระจายตัวตามมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในประเทศไทยนอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศและทุนเพื่อสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยระดับนานาชาติด้วย

แนวทางการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อความมั่นคงของประเทศ และสร้างโอกาสให้ไทยเป็นผู้ผลิตบางส่วนของเทคโนโลยีนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ภายในประเทศที่ต้องมีความพร้อมและความสามารถประยุกต์ใช้ควอนตัมเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม โดยแนวทางที่สำคัญ ได้แก่ การสนับสนุนการสร้างกำลังคนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีควอนตัม และสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องของภาคประชาชนที่มีต่อเทคโนโลยีควอนตัมเพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งในฐานะผู้พัฒนาและผู้ใช้เทคโนโลยีควอนตัมอย่างชาญฉลาด ซึ่ง สอวช. ร่วมกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและประชาคมวิจัย ได้จัดทำสมุดปกขาวการวิจัยขั้นแนวหน้า “เทคโนโลยีควอนตัม” (แผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2572) ขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบในการวางแผนการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมของประเทศไทย

4) การวิจัยขั้นแนวหน้าด้านระบบโลกและอวกาศ (Earth Space System) ปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่ยุคอวกาศใหม่ (New Space) เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศสู่ภาคเอกชนและสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศในเชิงพาณิชย์ได้ เช่น การให้บริการอินเตอร์เน็ตดาวเทียม Starlink การให้บริการขนส่งดาวเทียมที่สามารถนำจรวดขนส่งมาใช้ซ้ำได้ บริการเก็บกู้ขยะอวกาศและซ่อมแซมดาวเทียมในอวกาศ การท่องเที่ยวอวกาศ เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์และบริการในอุตสาหกรรมอวกาศทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้นเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทั้งด้านความมั่นคงด้านอวกาศ (Space Security)

ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของไทย พบว่า ไทยจำเป็นจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เช่น โครงการดาวเทียมสื่อไทยคม (Thaicom1-8) โครงการดาวเทียมสำรวจทรัพยากร เป็นต้น แม้ว่าในอดีตประเทศไทยเคยมีความสามารถสร้างดาวเทียมขนาดเล็กดวงแรกของประเทศไทย (ดาวเทียมไทยไทพัฒ) ที่ออกแบบและสร้างโดยทีมวิศวกรไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของไทยและมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ แห่งประเทศอังกฤษ แต่ขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องทำให้ไทยเสียโอกาสในการพัฒนาคนในอุตสาหกรรมอวกาศไป มีการประมาณการว่ามูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมของอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทยสูงถึง 35,559 ล้านบาท

แนวทางการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม ประเทศควรวางแผนเตรียมความพร้อมโดยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเพิ่มกำลังคนและผู้เชี่ยวชาญ การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญ โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในบริบทของประเทศไทยได้ เช่น ปัญหาภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในอนาคต ผ่านการใช้เทคโนโลยีอวกาศ อีกทั้งการตั้งเป้าให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศขึ้นในประเทศและผลักดันให้ไทยเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของเศรษฐกิจอวกาศให้ได้

5) สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (Social Sciences, Humanities and Arts) การปรับโครงสร้างระบบวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้กระทรวง อว. เป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ทบทวนสถานภาพ แนวโน้ม ปัญหาและอุปสรรค ของระบบวิจัยและนวัตกรรมด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (SHA) ของไทย การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมในด้านนี้จึงมีความสำคัญ เพื่อบรรลุเป้าหมายของการปฏิรูประบบดังกล่าว โดยคำนึงถึงการพัฒนาเชิงสถาบันองค์ความรู้ด้าน SHA และการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ (แพลตฟอร์ม) สำหรับการสื่อสารและผลักดันนโยบายและการปฏิบัติสำหรับประเด็นสำคัญในการเปลี่ยนผ่านเชิงสังคม ผ่านการศึกษาวิจัยเชิงระบบเพื่อให้ได้มาซึ่งสมุดปกขาวแนวทางปฏิรูประบบความรู้ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของไทย โดยเสนอการกำหนดอนาคต (Future Setting) และพิมพ์เขียว (Blueprint) แนวทางการปรับปรุงระบบจัดการความรู้และโครงสร้างพื้นฐานความรู้ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผลจากโครงการศึกษาวิจัยเชิงระบบที่ดำเนินการโดย สอวช. ร่วมกับที่ปรึกษาในด้านที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ได้มีการจัดตั้งวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ หรือ “ธัชชา” (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts –TASSHA) ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการยกระดับการพัฒนาไปสู่อนาคต โดยธัชชาจะเป็นหน่วยงานวิจัยหลักที่มีบทบาทในการพัฒนาความรู้ ขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาที่ยั่งยืนเชื่อมโยงประเทศไทยเข้ากับภูมิภาคและโลกผ่านการดำเนินงานของสถาบันเฉพาะทาง 5 สถาบัน ได้แก่ สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันโลกคดีศึกษา สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น

ผู้สนใจสามารถติดตามอ่านรายละเอียดขีดความสามารถในแต่ละด้านเพิ่มเติมได้จากรายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี 2564: การฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 สู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม : https://www.nxpo.or.th/th/report/9727/

และอ่านบทความ ขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย ตอนที่ 1 ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/9985/

บทความ ขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย ตอนที่ 2 ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/10006/

เรื่องล่าสุด