×

จะดีแค่ไหน ถ้าขวดเบียร์แปลงร่างเป็นทรายได้

วันที่เผยแพร่ 14 กรกฎาคม 2021

รู้หรือไม่ว่า ทรายชายหาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลกตอนนี้กว่า 2 ใน 3 กำลังจะถูกทำลายจากการใช้ทรายเป็นจำนวนมากในกระบวนการทางอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมขวดเบียร์ก็เป็นหนึ่งในผลผลิตที่ได้จากเม็ดทรายเหล่านั้นด้วย

> เราลองมาดูสถิติที่เกี่ยวกับเบียร์กันดีกว่าว่าจะต้องใช้ทรายมหาศาลขนาดไหนกัน ?

  • ประชากรโลกจำนวนร้อยละ 0.7 หรือราวๆ 50 ล้านคนทั่วโลกชื่นชอบการดื่มเบียร์เป็นชีวิตจิตใจ
  • ทรายคือสินแร่ที่ถูกขุดขึ้นมาใช้มากที่สุดในโลก แซงหน้าเชื้อเพลิงฟอสซิลไปด้วยปริมาณการใช้กว่า 3.2 – 5.0 หมื่นล้านตันต่อปี
  • ขวดแก้ว 1 ขวด ต้องใช้เศษแก้วประมาณ 80% อีก 20% จะเป็นทรายเพื่อการผลิตแก้วโดยเฉพาะ บวกกับส่วนผสมอื่น ๆ อีกอย่างละเล็กละน้อย
  • “วัดป่ามหาเจดีย์แก้ว” หรือ “วัดล้านขวด” ที่อยู่ในประเทศไทยนั้น สร้างจากขวดเบียร์จำนวนมากกว่า 1.5 ล้านขวด
  • เว็บไซต์ Expensivity ได้เผยข้อมูลดัชนีเบียร์โลก ประจำปี 2021 หรือ World Beer Index 2021 ซึ่งทางเว็บไซต์จะทำการวิจัยข้อมูลการบริโภคเบียร์จากทั่วโลก พบว่าประเทศไทยครองแชมป์อันดับ 1 ในเอเชียเพราะคนไทยดื่มเบียร์เฉลี่ย 142 ขวด / คน / ปี เกาหลี 130 ขวด / คน / ปี และจีน 127 ขวด / คน / ปี
.
ด้วยปัญหาการนำทรายมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตแต่ไม่สามารถนำทรายกลับไปรีไซเคิลคืนสู่ธรรมชาติได้ทำให้บริษัท DB Breweries แบรนด์เบียร์ชื่อดังจากนิวซีแลนด์ จึงได้ผุดแคมเปญสุดเจ๋งอย่าง “DB Export Beer Bottle Sand” ที่จะสามารถนำขวดเบียร์มาแปลงร่างเป็นเม็ดทรายละเอียดได้ภายในไม่กี่วินาทีเท่านั้น ผ่านการบดโดยเครื่องจักรขนาดเล็กพร้อมกับเครื่องดูดฝุ่นเพื่อดูดฉลากและผงซิลิก้าออกจากทราย ซึ่งขวดเบียร์ 1 ขวดแปลงร่างเป็นทราย 200 กรัม และเราจะสามารถนำทรายที่รีไซเคิลไปต่อยอดทำอย่างอื่นได้อีกมากมายเลยทีเดียว
.
จากความต้องการใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตเพิ่มมากขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับปริมาณทรัพยากรที่มีอยู่ สอวช. จึงเล็งเห็นความสำคัญของการวางแผนทรัพยากรในระบบการผลิตทั้งหมดให้คืนสู่สภาพเดิมและนำกลับมาใช้ใหม่ได้เหมือนกรณี “เปลี่ยนขวดเบียร์ให้เป็นทราย” เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต และให้เกิดความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
.
แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ สอวช. อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมจะเข้ามาตอบโจทย์เรื่องดังกล่าว โดยเศรษฐกิจหมุนเวียน จะมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรใหม่ (Virgin material) ให้น้อยที่สุด การคงคุณค่าผลิตภัณฑ์ให้นานที่สุด การเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานผ่านโมเดลธุรกิจใหม่ การสร้างของเสียในปริมาณที่ต่ำที่สุดและให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (Secondary raw material) เช่น การเปลี่ยนของเหลือทิ้ง ให้เป็นสารมูลค่าเพิ่มสูง การใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบกำจัดขยะต้นทาง กลางทาง และปลายทาง การส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลวัสดุที่สำคัญ การส่งเสริมการออกแบบผลิตภัณฑ์และรูปแบบธุรกิจที่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความสมดุลในการดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้งานใหม่ ควบคู่ไปกับการสร้างระบบและการออกแบบที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบ ภายนอก (externalities) เชิงลบ เราจึงมักเห็นเศรษฐกิจหมุนเวียนใช้พลังงานทดแทน หรือขจัดการใช้เคมีภัณฑ์ที่เป็นพิษซึ่งเป็นอุปสรรคของการนำวัสดุต่าง ๆ มาใช้อีกครั้งหากจะส่งสสารนั้นกลับสู่ธรรมชาติ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบนี้ คือ การออกแบบวัสดุ ผลิตภัณฑ์ ระบบ และโมเดลทางธุรกิจใหม่ที่ต้องคิดไม่เหมือนเดิม เพื่อสร้างนวัตกรรมอย่างเช่นกรณี “เปลี่ยนขวดเบียร์ให้เป็นทราย” ที่ได้นำเสนอข้างต้นนี้
.
โดย (ร่าง) สมุดปกขาว การพัฒนาระบบเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน: โปรแกรมปักหมุดเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมธุรกิจและเทคโนโลยี ที่จัดทำโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.)
สามารถติดตามได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/report/6724/
#สอวช. #BCG #รีไซเคิล #ขวดเบียร์ #ทราย
ข้อมูลเพิ่มเติม :