×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » Upskill ให้ตอบโจทย์งาน! โครงการพัฒนาทักษะรูปแบบ GenNX Model

Upskill ให้ตอบโจทย์งาน! โครงการพัฒนาทักษะรูปแบบ GenNX Model

วันที่เผยแพร่ 8 กันยายน 2021 1126 Views

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดแรงงานประเทศไทย ทั้งการเลิกจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นในภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคบริการอื่นๆ รวมถึงกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ที่ไม่สามารถหางานได้ เนื่องจากปริมาณการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและความต้องการในตลาดลดลง อีกทั้งโครงสร้างธุรกิจที่เปลี่ยนไป มีการพึ่งตลาดท้องถิ่นและเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น มีการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม

รวมถึงกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้แรงงานมีความจำเป็นต้องพัฒนาทักษะให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง และลดความเสี่ยงของการตกงานจากวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เห็นถึงความสำคัญและโอกาสในการพัฒนาทักษะการทำงานให้กับกำลังคนในช่วงสถานการณ์วิกฤตนี้ จึงมีแผนดำเนินโครงการพัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงานตามความต้องการของประเทศ ในรูปแบบ GenNX Model

ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาทักษะการทำงานผ่านการฝึกอบรมระยะสั้นแบบเข้มข้น (Bootcamp) ปรับรูปแบบการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของประเทศไทย โดยดำเนินการร่วมกับ Generation องค์กรที่มีภารกิจสำคัญในการจับคู่ (Matching) ระหว่างผู้ต้องการหางานหรือผู้ว่างงานกับบริษัทหรือนายจ้าง

ผ่านกระบวนการฝึกอบรมแบบเข้มข้น (Bootcamp) โดยใช้หลักสูตรอบรมระยะสั้นประมาณ 4-12 สัปดาห์ในภาษาท้องถิ่น (Local language) ของประเทศนั้นๆ หรือใช้ 2 ภาษา (Bilingual) ฝึกอบรมทั้งด้านเทคนิคเฉพาะและทักษะในการหางาน ทั้ง Behavior, Mindset, Professional presence เช่น การสัมภาษณ์งานเสมือนจริง (Role-play interview) การนำเสนอตัวตนในการหางาน เน้นการฝึกอบรมสำหรับอาชีพที่มีเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน

จากสถิติพบว่าผู้เข้าร่วมโปรแกรม GenNX Model 79% สามารถหางานได้ภายใน 3 เดือนหลังจากเข้ารับการฝึกอบรม มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงกว่าเฉลี่ย 84% และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น 2-6 เท่าเมื่อเทียบกับก่อนเข้าร่วมโปรแกรม โดยมีหลักสูตรที่สำคัญ 26 หลักสูตรใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) Customer Service & Sales 2) Digital & IT 3) Healthcare และ 4) Skilled Trades

สำหรับโครงการในประเทศไทยจะเริ่มนำร่องใน 2 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล (อาทิ อาชีพ Software/web developer) และ Healthcare ซึ่งตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทยที่มีความต้องการบุคลากรของอุตสาหกรรมดิจิทัลมากกว่า 30,000 คนในอีก 5 ปีข้างหน้า

โดยในปี 2563 อุตสาหกรรมดิจิทัลมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 20% เป็นสัดส่วนสูงที่สุดในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทำการสำรวจ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 204,240 ล้านบาท และประเมินว่ามูลค่าตลาดดังกล่าวจะขยายตัวสูงกว่า 258,470 ล้านบาท ในปี 2565 ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูง จะมีความต้องการบุคลากรมากกว่า 15,000 คนในอีก 5 ปีข้างหน้า

โครงการนำร่องในประเทศไทยจะใช้ระยะเวลา 24 เดือน เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานแบบเข้มข้นและตรงกับความต้องการจ้างงาน ให้แก่ผู้ว่างงาน นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา และบุคลากรในสถานประกอบการเพื่อยกระดับทักษะการทำงานที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

โดยในระยะนำร่องจะผลิตบุคลากรที่ผ่านการเข้าร่วมโปรแกรมจำนวนทั้งสิ้น 350 คน แบ่งเป็น การฝึกอบรม Bootcamp 14 รุ่น รุ่นละ 25 คน รวมถึงฝึกอบรมวิทยากร (Trainer) ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการฝึกอบรมเพื่อการจ้างงาน โดยการคัดเลือกบุคลากรจากอาจารย์/ นักวิจัยจากสถาบันการศึกษา และตัวแทนจากภาคเอกชน จำนวน 28 คน ผ่านการสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการและหน่วยฝึกอบรมในประเทศ

โครงการดังกล่าวนับเป็นการพัฒนาทักษะการทำงานให้กับกำลังคนของประเทศเพื่อให้ได้รับการจ้างงานในช่วงสถานการณ์วิกฤต และยังทำให้บุคลากรของไทยได้รับการถ่ายทอดกระบวนการพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรมเพื่อการจ้างงาน ซึ่งเป็นการพัฒนาและยกระดับภาคการศึกษาของประเทศไทยให้มีกระบวนการผลิตบุคลากรที่ตรงตามความต้องการของประเทศได้อย่างรวดเร็ว และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

นอกจากนี้ จะมีการถอดบทเรียนกระบวนการและองค์ความรู้ในการฝึกอบรมพัฒนาทักษะการทำงานเพื่อตอบโจทย์การจ้างงานและนำมาถ่ายทอดเพื่อขยายผลไปสู่มหาวิทยาลัย หรือองค์กรภาคการศึกษาอื่น ๆ อีกทั้ง องค์ความรู้ที่ได้จากการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับภาคเอกชนสามารถนำมาปรับใช้กับการพัฒนาหลักสูตรสำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมถึงการนำมาใช้ปรับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรของสถาบันการศึกษาของประเทศอีกด้วย

ในโครงการนี้ สอวช. มีบทบาทสำคัญในการนำผลการศึกษาที่ได้จากการดำเนินโครงการไปพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในด้านการพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนากำลังคนสนับสนุนการดำเนินงานของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ขอบคุณข้อมูลจาก

ภาวะสังคมไทย Social situation and outlook ไตรมาสหนึ่ง ปี 2563, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

5 ล้านคนตกงาน นักศึกษาจบใหม่ 1 ใน 3 ไร้งานทำ KKP ประเมินวิกฤตโควิด-19 กับผลกระทบต่อการจ้างงาน (https://thestandard.co/kkp-research-analyze-coronavirus…)

Generation Foundation. https://www.genfound.org

“ดีป้า” เผยผลสำรวจอุตสาหกรรมดิจิทัล ปี 2561-2562 ภาพรวมทรงตัว คาดปี 2563 โควิดช่วยหนุนตลาดบริการดิจิทัลโตก้าวกระโดด (https://www.depa.or.th/th/article-view/20200923_01)

สมรรถนะบุคลากรในอนาคตสำหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2563-2567, สำนักงานการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ

Tags:

เรื่องล่าสุด