messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนที่นำทางด้านเทคโนโลยีฟิวชันของประเทศไทย

กระทรวง อว. โดย สอวช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนที่นำทางด้านเทคโนโลยีฟิวชันของประเทศไทย

วันที่เผยแพร่ 26 กรกฎาคม 2025 26 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนที่นำทางด้านเทคโนโลยีฟิวชันของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีบทบาทสำคัญ ในด้านนโยบาย การวิจัย การพัฒนากำลังคนและภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำไปปรับปรุงร่างแผนที่นำทางฯ ให้ครอบคลุมและเหมาะสมยิ่งขึ้นกับบริบทของประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2568 ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 สอวช.

รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวเปิดการประชุม โดยเน้นย้ำว่า “เทคโนโลยีฟิวชัน” เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีขั้นสูงที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาด ปลอดภัย และมีศักยภาพในการผลิตพลังงานอย่างยั่งยืน โดยไม่ก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสีระยะยาว อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยการวางแผนระยะยาว การลงทุนระดับสูง ตลอดจนความร่วมมือระหว่างประเทศในหลากหลายมิติ จากการศึกษาและวิเคราะห์สถานภาพระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีฟิวชันของประเทศไทย พบประเด็นสำคัญที่สะท้อนถึงโอกาส ความท้าทาย และแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต ดังนี้

1.การกำหนดพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partners) ควรเลือกประเทศพันธมิตรที่มีศักยภาพสูงและสอดคล้องกับบริบทของไทย เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและเสริมสร้างความร่วมมือระยะยาว

2. การจัดตั้งหน่วยงานกลางและผู้นำระดับชาติ ต้องมีหน่วยงานและผู้รับผิดชอบหลักที่ชัดเจนในการประสานและกำกับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันของประเทศ

3.การพัฒนากฎหมายและกรอบกำกับดูแล ควรปรับปรุงกฎหมายและข้อบังคับให้สอดรับกับเทคโนโลยีใหม่ เพื่อรองรับการลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย

4.การพัฒนากำลังคนและระบบการศึกษา ควรยกระดับศักยภาพบุคลากรผ่านโจทย์วิจัยที่ท้าทาย และปรับหลักสูตรในระดับมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับทิศทางเทคโนโลยี

5. การกำหนดทิศทางเทคโนโลยีอย่างชัดเจน ต้องเลือกแนวทางฟิวชันที่ประเทศจะมุ่งพัฒนาเพื่อเตรียมกำลังคนและโครงสร้างพื้นฐาน

6.การเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมและการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน ควรมีกลไกหรือแพลตฟอร์มที่เปิดให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม

7.การวางแผนระยะยาวและกำหนด Milestones ที่ชัดเจน ควรกำหนดเป้าหมายในระยะ 5, 10, 20 และ 30 ปี เพื่อจัดลำดับขั้นของการพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน

ผศ.ดร.บุญญฤทธิ์ ฉัตรทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า การจัดทำแผนที่นำทางด้านเทคโนโลยีฟิวชันของประเทศไทย ได้ศึกษาวิเคราะห์สถานภาพและระบบนิเวศนวัตกรรมของเทคโนโลยีฟวชันในต่างประเทศ อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น พร้อมทั้งประเมินสถานภาพและระบบนิเวศนวัตกรรมของการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันของประเทศไทย รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีฟิวชันและพลาสมา เพื่อเก็บขอมูลทั้งในประเทศและตางประเทศ ครอบคลุม 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีฟิวชัน 2) นักวางแผนและผู้กำหนดนโยบาย 3) ผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชน 4) ภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย และหน่วยงานด้านการผลิตบุคลากร และ 5) ภาคประชาสังคม องค์กร NGO และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ข้อมูลทั้งหมดได้ถูกนำมาสังเคราะห์เป็น “ร่างแผนที่นำทางด้านเทคโนโลยีฟิวชันของประเทศไทย” ซึ่งใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีในระยะยาว

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) ให้ความเห็นต่อร่างแผนที่นำทางฯ ในประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • ควรแยกแผนการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาอุณหภูมิต่ำออกจากพลาสมาสำหรับนิวเคลียร์ฟิวชัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการวางแผนกลยุทธ์
  • ควรตั้งเป้าหมายของแผนการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันในระยะยาว 25 ปี (Fusion-2050) เพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศผู้นำเทคโนโลยีนี้
  • ควรระบุกรอบจำนวนบุคลากรและงบประมาณให้ชัดเจน โดยที่ผ่านมาแม้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหลายภาคส่วน แต่ยังไม่เป็นไปตามกรอบที่วางแผนไว้
  • เสนอให้ใช้สโลแกน “Fusion 2050” เพื่อสร้างการจดจำและเป็นจุดยึดของแผนฯ

ทางด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ให้ความเห็นว่า ในระยะสั้นควรกำหนดกลุ่มเทคโนโลยีที่อุตสาหกรรมภายในประเทศให้ความสนใจ เพื่อให้เกิดความต้องการจริง (Demand) จากภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงานของแผนที่นำทางดังกล่าวอย่างชัดเจน ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่ “Fusion Technology 2050” ซึ่งครอบคลุมแนวทางการดำเนินงานในแต่ละช่วงเวลาอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย

  • ระยะสั้น เน้นการสร้างความเข้าใจและรับรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีฟิวชันแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง รวมถึงการทำงานวิจัยขั้นพื้นฐานและการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และการดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในเทคโนโลยีที่ตรงกับความต้องการของเอกชน
  • ระยะกลาง พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถต่อยอดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องได้
  • ระยะยาว พัฒนาเทคโนโลยีของประเทศเอง และบูรณาการความร่วมมือในทุกภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต

การประชุมครั้งนี้ มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาเข้าร่วม อาทิ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร และบริษัท Baker & McKenzie Ltd. บริษัท Kumwell Corporation PLC. บริษัท B.GRIMM POWER PCL. และ บริษัท Business Development

เรื่องล่าสุด