messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ผนึกกำลัง 9 หน่วยงาน ลงนามความร่วมมือพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ หนุนเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

กระทรวง อว. โดย สอวช. ผนึกกำลัง 9 หน่วยงาน ลงนามความร่วมมือพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ หนุนเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

วันที่เผยแพร่ 18 กรกฎาคม 2025 31 Views

(17 กรกฎาคม 2568) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการ สอวช. ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำร่วมกับ 9 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.)  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.)สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (ม.ส.ท.) ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ นี้ จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฐานข้อมูลและตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ได้แก่ ก๊าซเรือนกระจก (GHGs) เศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) เพื่อรองรับเศรษฐกิจการค้าและความยั่งยืน สนับสนุนการพัฒนาตัวชี้วัดและข้อมูลค่าเป้าหมายสนับสนุนหมุดหมายที่ 10 ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องในแผนพัฒนาฯ ฉบับต่อ ๆ ไป รวมถึงเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดด้าน GHGs, CE, SDG และการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

รศ.วงกต กล่าวว่า สอวช. มีภารกิจออกแบบและจัดทำข้อเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) รวมถึงการจัดทำข้อเสนอการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบ อววน. และร่วมขับเคลื่อนกับภาคีเครือข่ายในประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมา สอวช. ได้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำสมุดปกขาวกรอบนโยบายนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน : วิสัยทัศน์ พ.ศ. 2573 (CE Vision 2030) ที่พัฒนามาจากการจัด CE Forum ร่วมกันกับเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย (THAI-SCP) ร่วมถึงการพัฒนาตัวชี้วัดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Green Enterprise Indicator: GEI) ที่อยู่ในระหว่างเข้าคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบและรับรอง เพื่อเป็นตัวชี้วัดระดับมาตรฐานแห่งชาติต่อไป โดยตัวชี้วัดนี้มีเพื่อเชื่อมโยงระหว่างระบบนิเวศสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านให้กับผู้ประกอบการดำเนินการเศรษฐกิจหมุนเวียนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมสอดแทรกให้เกิดการใช้นวัตกรรมและสอดรับกับกรอบการประเมินและพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) จนนำไปสู่ห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain) ต่อไปได้

รศ.วงกต ยังได้กล่าวย้ำว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาของ สอวช. สอดรับกับแนวทางความร่วมมือกับทุกหน่วยงานเป็นอย่างยิ่ง โดยสามารถนำมาต่อยอดและสนับสนุนการพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศ และใช้บทบาทในการเป็นเลขานุการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สนับสนุนการทำงานของสมาชิกภาคีเครือข่ายให้ดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย ซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เป็นส่วนหนึ่งและเป็นเรือธงของยุทธศาสตร์ อววน. และของ สอวช. ที่ตั้งเป้าหมายสนับสนุนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

“การพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ นี้ จะเป็นกุญแจสำคัญของการวางนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ร่วม ทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยใช้ฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ รวมถึงเป็นฐานที่สำคัญที่จะสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย สำหรับตลาดใหม่ที่ใช้มาตรการทางการค้า ด้านทรัพยากรและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน” รศ.วงกต กล่าว

เรื่องล่าสุด