(15 กรกฎาคม 2568) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) (สวพส.) และ มูลนิธิโครงการหลวง จัดประชุมคณะทำงานบริหารจัดการงานวิจัยบนพื้นที่สูง ครั้งที่ 1/2568 โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ ประธานคณะทำงานวิจัย มูลนิธิโครงการหลวง นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ประธานคณะอนุกรรมการวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เป็นที่ปรึกษาการประชุม และ ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. เป็นประธานการประชุม

นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยสาระสำคัญในการประชุม คือการพิจารณาแนวทางการพัฒนาระบบและกลไกการขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาพื้นที่สูง และกรอบการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่สูงในประเด็นสำคัญ ซึ่งการพัฒนาพื้นที่สูงจำเป็นต้องอาศัยการวิจัยแบบบูรณาการข้ามศาสตร์และตอบโจทย์ความต้องการการพัฒนาพื้นที่สูง รวมถึงสอดคล้องตามการแก้ปัญหาเร่งด่วนของประเทศ ที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะ 2 ประเด็นสำคัญ คือ
1. (ร่าง) ระบบและกลไกการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยพื้นที่สูง ตั้งแต่การค้นหาโจทย์วิจัยจากพื้นที่ การจัดทำฐานข้อมูลและแพลตฟอร์มวิจัยพื้นที่สูง การมีกลไกสนับสนุน และระบบติดตามและประเมินผลแบบมีส่วนร่วม จะเป็นกลไกที่จะช่วยให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งการกำหนดโจทย์วิจัยสามารถมาจากทั้งระดับนโยบายและจากพื้นที่ โดย สวพส. ควรเป็นเจ้าภาพในการจัดทำฐานข้อมูลและแพลตฟอร์มวิจัยพื้นที่สูง เพื่อรวมรวบงานวิจัยที่ผ่านมาและสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ถึงประเด็นที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนในการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาพื้นที่สูง รวมถึงเป็นแนวทางในการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจ ทั้งในระดับนโยบายเพื่อกำหนดทิศทางและกรอบงบประมาณได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่าสูงสุด
2. กรอบการดำเนินงานวิจัยพื้นที่สูง ควรต้องให้ความสำคัญกับงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์เพิ่มมากขึ้น โดยต้องเร่งดำเนินการจัดลำดับความสำคัญประเด็นการวิจัยที่เร่งด่วนตอบโจทย์การแก้ปัญหาบนพื้นที่สูงของประเทศ โดยให้ สอวช. เร่งดำเนินการในการจัดทำกรอบการวิจัยพัฒนาพื้นที่สูงโดยเชื่อมโยงระบบและกลไกการปฏิบัติงานฯ การเชื่อมโยงข้อมูลพื้นที่สูง และประเด็นเป้าหมายสำคัญของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และจัดเวทีให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อกรอบการวิจัยพัฒนาพื้นที่สูงต่อไป


