messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการบูรณาการการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่สูงของประเทศไทย

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการบูรณาการการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่สูงของประเทศไทย

วันที่เผยแพร่ 15 กรกฎาคม 2025 33 Views

รู้หรือไม่? พื้นที่สูงในประเทศไทยครอบคลุมกว่า 54.97 ล้านไร่ ใน 23 จังหวัด มีความสำคัญต่อโครงสร้างทางนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ สังคม และความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิต

พื้นที่เหล่านี้กำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อน ที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในระยะยาว สอวช. จึงได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการบูรณาการการวิจัยเพื่อพัฒนาพี้นที่สูงของประเทศไทย เพื่อให้ การพัฒนาพื้นที่สูงมีแผนที่ชัดเจน และมีการออกแบบนโยบาย กลไกการพัฒนาที่ตอบสนองต่อบริบทเฉพาะของพื้นที่สูงอย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถใช้กลไกการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับการพัฒนาในระยะยาว ภายใต้ 4 เสาหลักของการพัฒนา ได้แก่

🔹1. การพัฒนารากฐาน (Foundation) ทั้งในด้านการเสริมสร้าง ป้องกัน และฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้ และแหล่งน้ำ เพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

🔹2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) การพัฒนาระบบคมนาคมให้รองรับการขนส่งและการเดินทาง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาเข้าถึงน้ำสะอาดและไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่สูง

🔹3. การพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development) การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้จากการส่งออก รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อพัฒนาธุรกิจและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว ตลอดจนการเชื่อมโยงกับภาคเอกชน ภายใต้การมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของของชุมชน

🔹4. การพัฒนาผู้นำและชุมชนเข้มแข็ง (Leadership and Community) ผ่านการเสริมสร้างความสามารถของผู้นำ การฝึกอบรม และการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน อีกทั้งการส่งเสริมให้สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนในอนาคต

สอวช. ยังได้ออกแบบ “ฉากทัศน์อนาคตที่เป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่สูงของประเทศไทย 4 ฉากทัศน์” โดยอนาคตของพื้นที่สูงไทยกำลังยืนอยู่บนทางแยกสำคัญ โดยอิงตามปัจจัยร่วม ได้แก่ แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่สูง และระดับความยั่งยืนของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งนำมาสู่การนำเสนอฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่สูงของประเทศไทย ดังนี้

🔸ฉากทัศน์ที่ 1 “เติบโตอย่างยั่งยืน”

เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีทันสมัย ชุมชนมีส่วนร่วม และสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดี

🔸ฉากทัศน์ที่ 2 “รุ่งเรืองชั่วคราว”

เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่เกิดจากการใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัดทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม และสร้างความเปราะบางในระยะยาว

🔸ฉากทัศน์ที่ 3 “วิกฤตหมอกควัน”

เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมตกอยู่ในภาวะวิกฤต พื้นที่สูงเผชิญปัญหาสะสมจากการจัดการทรัพยากรที่ล้มเหลว ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน

🔸ฉากทัศน์ที่ 4 “พออยู่พอกิน ป่าไม้สมบูรณ์”

เศรษฐกิจเติบโตช้าแต่มั่นคง ชุมชนพึ่งพาตนเอง ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และรักษาความสมดุลระหว่างการดำรงชีวิตกับธรรมชาติ

💡ข้อเสนอแนะต่อกลไกการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในการพัฒนาพื้นที่สูง

กลไก อววน. มีศักยภาพสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนบนพื้นที่สูง ผ่านการสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล พลังงานหมุนเวียน การศึกษาที่เข้าถึงได้ทุกช่วงวัย และระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐ และลดความเหลื่อมล้ำเชิงเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว กลไก อววน. ยังสามารถส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ผ่านนวัตกรรมเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ เสริมสร้างผู้นำชุมชน และเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับมหาวิทยาลัยและนักศึกษา เพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

การพัฒนาพื้นที่สูงจำเป็นต้องอาศัยพลังร่วมจากทุกภาคส่วน ได้แก่ หน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรไม่แสวงหากำไร ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่แบบ “ผสานพลัง” บนฐานของความเข้าใจบริบทเฉพาะพื้นที่ โดยมีหน่วยงานกลางอย่างสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และมูลนิธิโครงการหลวง นอกจากนี้ สมุดปกขาวฉบับนี้ยังได้เสนอกรอบการวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางกำหนดโจทย์การวิจัยในอนาคต โดยครอบคลุมประเด็นสำคัญ อาทิ การจัดการทรัพยากร การเกษตรยั่งยืน การส่งเสริมสุขภาพ การศึกษา การท่องเที่ยว การลดความยากจน และการสร้างชุมชนเข้มแข็ง

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอในสมุดปกขาว “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการบูรณาการการวิจัย เพื่อพัฒนาพื้นที่สูงของประเทศไทย” ที่จัดทำโดย สอวช. เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบาย นักวิจัย และผู้ปฏิบัติงาน สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนและดำเนินงานให้เหมาะสมกับสภาพจริงของพื้นที่สูงในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

.

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : สมุดปกขาว ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการบูรณาการการวิจัยเพื่อพัฒนาพี้นที่สูงของประเทศไทย https://www.nxpo.or.th/th/report/33814/

เรื่องล่าสุด