messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมเชิงปฏิบัติการศึกษาความเป็นไปได้เชิงเทคโนโลยีและเชิงเศรษฐกิจในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในระบบประกันภัยพืชผลของไทย

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมเชิงปฏิบัติการศึกษาความเป็นไปได้เชิงเทคโนโลยีและเชิงเศรษฐกิจในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในระบบประกันภัยพืชผลของไทย

วันที่เผยแพร่ 10 กรกฎาคม 2025 73 Views

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในระบบประกันภัยพืชผลของประเทศไทย ทั้งในเชิงเทคโนโลยีและเชิงเศรษฐกิจ (ธุรกิจ) ระหว่างวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2568 โดยมี ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. เป็นประธานในพิธีและกล่าวเปิดการประชุมต้อนรับ Mr. Alastair Marke ตำแหน่ง Director General และทีมวิจัยจากสถาบัน The Blockchain & Climate Institute (BCI) สหราชอาณาจักร รวมถึงทีมวิจัยจากหน่วยงานประเทศไทย ได้แก่ วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม และคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลและความก้าวหน้าของโครงการ “Blockchain Technology for a Real Time Climate Risk Insurance System in Thailand’s Agricultural Sector” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้โปรแกรม Adaptation Fund Climate Innovation Accelerator (AFCIA I) เฟสแรก โดยได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่าย (Climate Technology Centre and Network: CTCN) ดำเนินงานร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) และกองทุนการปรับตัว (Adaptation Fund) เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย สร้างความโปร่งใส และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเกษตรกรไทยในการเข้าถึงการประกันภัยพืชผลในภาคเกษตร

การประชุมหารือในครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญ คือ 1) เสนอสรุปรายงานการวิเคราะห์เบื้องต้นของภาคเกษตรของไทย ผลสำรวจเกษตรกร และสรุปผลการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในระบบประกันภัยพืชผลในภาคเกษตรของประเทศไทย ซึ่งได้จัดขึ้นในวันที่ 13-14 มกราคม ที่ผ่านมา 2) เสนอความเป็นไปได้ในเชิงเทคโนโลยี เพื่อให้เป็นทางแก้ปัญหา (Solution) ที่โปร่งใสและสามารถจ่ายเงินสินไหมทดแทนคืนให้เกษตรกรไทยได้ทันเวลา ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดของระบบเดิม โดยเฉพาะการจ่ายเงินที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพจากพารามิเตอร์สภาพอากาศที่กำหนดไว้ล่วงหน้าด้วยเทคโนโลยีบล๊อคเชน นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาประเด็นสำคัญ เช่น การออกแบบสถาปัตยกรรมระบบของประกันภัยด้วยบล็อกเชน (Blockchain-based Parametric Insurance: BBPI) ซึ่งเป็นรูปแบบของการประกันภัยที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนและสัญญาอัจฉริยะ (Smart contracts) มาใช้เพื่อทำให้การจ่ายเงินสินไหมทดแทนเป็นไปโดยอัตโนมัติ โดยอ้างอิงข้อมูลจากพารามิเตอร์หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ล่วงหน้า การประเมินถึงความพร้อมของข้อมูลสภาพอากาศ การปฏิบัติตามกฎระเบียบ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และการเบิกจ่ายเงินสินไหม 3) เสนอความเป็นไปได้เชิงเศรษฐกิจ (ธุรกิจ) เพื่อวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจ อุปสงค์ ราคา ความยั่งยืนทางการเงิน และพัฒนากรอบการทำงานที่ยั่งยืน 4) กำหนดแผนงานที่ชัดเจน (Implementation Roadmap) สำหรับโครงการนำร่อง (Pilot Project) และแนวคิดพิสูจน์ (Proof-of-Concept) เพื่อวางรากฐานสำหรับการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการหารือรูปแบบที่เหมาะสม ข้อจำกัดทางเทคนิคและกฎระเบียบ ข้อมูลและแหล่งข้อมูล การเสริมสร้างขีดความสามารถ (Capacity building) และแนวทางการพัฒนาขยายผลในระดับแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox)

ทั้งนี้ รศ. วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการ สอวช. ได้กล่าวปิดการประชุมและกล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานสำคัญในระบบประกันภัยพืชผล อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมการข้าว (กข.) สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และสํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) รวมถึง ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน สอวช. ได้เข้าร่วมการประชุมฯ อย่างเข้มข้นทั้งสองวัน ซึ่งในที่ประชุมได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและทดลองใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนร่วมกันในอนาคต โดย สอวช. จะนำข้อมูลสรุปผลโครงการเสนอต่อคณะกรรมการและคณะทำงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อผลักดันให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบประกันภัยพืชผลของประเทศไทยต่อไป

เรื่องล่าสุด