สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดการประชุมเสวนาวิชาการ “Green skills: ทักษะสีเขียวพลิกอนาคตไทยสู่เวทีโลก” เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ณ ห้องประชุมแมนดารินซี ชั้น 1 โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ โดยมี ดร.สุรชัย สถิตคุณรัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวเปิดงาน

ดร.สุรชัย กล่าวว่า โจทย์สำคัญของการขับเคลื่อนเรื่องนี้คือการวิเคราะห์ว่าถ้าโลกและประเทศไทยจะมุ่งไปที่การสร้างเศรษฐกิจสีเขียวจะต้องดำเนินการอย่างไร โดยที่ผ่านมา สอวช. ร่วมกับ สวทช. เป็นหน่วยงานหลักในการริเริ่มให้เกิดนโยบายเศรษฐกิจบีซีจี ที่ประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงยังได้ดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องอีกหลายโครงการ อาทิ โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Campus) เชิญชวนมหาวิทยาลัยร่วมสนับสนุนประเทศไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG)

สำหรับงานครั้งนี้ สอวช. ได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สวทช. จัดโครงการศึกษาข้อมูลทักษะและองค์ความรู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว (Green skills and knowledge concepts) ที่พึงประสงค์ในบริบทของอุตสาหกรรมของประเทศไทย และได้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus group) ขึ้นมา โดยได้รับความร่วมมือจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ที่ได้นำเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะกำลังคนในบริบทของเศรษฐกิจสีเขียวอย่างรอบด้าน สามารถนำไปต่อยอดสู่การกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

“ผลการศึกษานี้จะถูกใช้ต่อยอดในการส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ทั้งในระดับอุดมศึกษา และการเสริมทักษะแรงงานในระบบเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งการ Upskill หรือ Reskill เพื่อเป็นฐานในการออกแบบหลักสูตรและการพัฒนากำลังคน รวมถึงเป็นข้อมูลต่อยอดในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนากำลังคนเชิงระบบต่อไป” ดร.สุรชัย กล่าว
ในการประชุมยังได้มีการจัดเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง “Green skills: ทักษะสีเขียวพลิกอนาคตไทยสู่เวทีโลก” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการ สอวช. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มารุต ตั้งวัฒนาชุลีพร รักษาการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายบริการวิชาการและการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยบูรพา ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.ชัยพล จันทะวัง ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมเด็กและเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ดร.ศรุดา ศิริภัทรปรีชา กรรมการบริหารและผู้จัดการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) และดำเนินรายการ โดย ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน สอวช.


รศ.วงกต กล่าวถึงทิศทางความต้องการกำลังคนตามอุตสาหกรรมเป้าหมายในตลาดแรงงาน พบว่ามีความต้องการกำลังคนแยกตามตำแหน่งงานและทักษะที่ต้องการในช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2568-2572) จำนวน 1,087,548 ตำแหน่ง ซึ่งทุกตำแหน่งงานล้วนต้องการทักษะ Green skills อีกทั้งข้อมูลแนวโน้มความต้องการในตลาดแรงงานที่เกี่ยวข้องกับทักษะความยั่งยืนและความสำคัญของทักษะสีเขียว จัดทำโดย Linkedin Economy Graph พบว่าระหว่างปี 2023 – 2024 ความต้องการบุคลากรที่มีทักษะสีเขียว (Green Talent Demand) ทั่วโลก เพิ่มขึ้นถึง 11.6% ซึ่งเร็วกว่าการเติบโตของจำนวนบุคลากรทักษะสีเขียว (Green Talent Supply) ที่เพิ่มขึ้นเพียง 5.6% นอกจากนี้ อัตราการจ้างงาน (Hiring rate) บุคลากรในด้านนี้ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของแรงงานทั่วไปถึง 54.6% โดยตัวเลขนี้สูงขึ้นไปอีกในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา 80.3% และไอร์แลนด์ 79.8%
รศ.วงกต ยังได้กล่าวถึงความท้าทายของสถาบันอุดมศึกษาไทยต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งการปรับเปลี่ยนเป็นวิถีชีวิตแบบหลายช่วง (Multistage life) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Disruptive technology) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (Demographic change) ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (Educational inequality) และสังคมดิจิทัล (Digital society) ส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษาไทยต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อตอบรับกับความท้าทาย ทั้งรูปแบบการจัดการศึกษาแบบ Non-age group, Non-Degree ผู้เรียนต้องเป็น Agile learners ปรับตัวเร็ว เรียนรู้เร็ว มีรูปแบบการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Personalized Education) มีแพลตฟอร์มและโมเดลการเรียนรู้ใหม่ ๆ และยังต้องมองถึงแนวโน้มอาชีพในอนาคตและทักษะในการจ้างงานด้วย




ด้านกลไกสนับสนุนการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงตอบโจทย์ความต้องการแรงงานภายในประเทศ มีตัวอย่างโครงการที่สำนักงานปลัดกระทรวง อว. และ สอวช. ขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) โครงการพัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงานตามความต้องการของประเทศแบบเร่งด่วน (GenNX Model) การบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work-integrated Learning: WiL) รวมถึงยังมีแพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ตอบการลงทุนของภาคผลิตและบริการ (STEMPlus) สำหรับบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์สนับสนุนการพัฒนากำลังคนรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการผลิตบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ผ่านสหกิจศึกษารูปแบบพิเศษ (Coop+) และการผลิตกำลังคนผ่านหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ เป็นต้น

ในการประชุมเสวนาวิชาการครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอบทวิเคราะห์และรายงานสรุปทักษะและองค์ความรู้ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว ที่พึงประสงค์ในบริบทของอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดย ดร.สิทธา สุขกสิ จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สวทช. ซึ่งข้อมูลจากการวิเคราะห์ผลการศึกษาพบว่า ทักษะความยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 ระดับหลัก ได้แก่ 1. ทักษะระดับพื้นฐาน (ฐานพีระมิด) เน้นทัศนคติและทักษะทางสังคม (Attitudes and soft skills) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ เช่น การคิดวิเคราะห์ (Critical thinking) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environmental awareness) การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) และการสื่อสาร (Communication) เป็นต้น 2. ทักษะระดับข้ามภาคส่วน (กลางพีระมิด) เน้นทักษะและองค์ความรู้เพื่อความยั่งยืนข้ามภาคส่วน (Cross-sectoral) เช่น ความคิดเชิงระบบ (System thinking) การรายงานเรื่องความยั่งยืน (Sustainability reporting) ทักษะด้านดิจิทัล (Digital skills) การจัดการขยะ (Waste management) และการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green procurement) เป็นต้น 3. ทักษะระดับเฉพาะ (ยอดพีระมิด) ทักษะและองค์ความรู้เพื่อความยั่งยืนเฉพาะภาคส่วน (Sector-specific) แบ่งเป็น 15 อุตสาหกรรม/ด้านย่อย ได้แก่ 1) ยานยนต์แห่งอนาคต (Future mobility) 2) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Intelligent electronics) 3) ท่องเที่ยว (Tourism) 4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and biotechnology) 5) อาหารแห่งอนาคต (Future food) 6)หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Industrial robotics) 7) การบินและโลจิสติกส์ (Aviation and logistics) 8)พลังงาน เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Energy, biofuel and biochemicals) 9) ดิจิทัล (Digital) 10) การแพทย์ครบวงจร (Healthcare) 11) ป้องกันประเทศ (Defense) 12) สนับสนุนเศรษฐกิจยั่งยืน (Enabling sustainable economy) 13) พัฒนาบุคลากรและการศึกษา (Training and education) 14) การเงิน (Financial) และ 15) วิจัยและพัฒนา (Research and development)

นอกจากนี้ ได้วิเคราะห์เพิ่มเติมในทักษะที่ต้องการเร่งด่วนและสำคัญต่อการลดก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นเฉพาะภาคส่วน (Top 3 Sector-specific) รวมถึง เสนอขั้นตอนการพัฒนาทักษะด้านความยั่งยืนของกําลังคน ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จ ความท้าทายและข้อควรระวังจากภายใน/ภายนอกองค์กร และบทบาทของแต่ละภาคส่วนในการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ความยั่งยืนอีกด้วย
