
รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้กล่าวเปิดงานและต้อนรับทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.อศิรา เฟื่องฟูชาติ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สวทช. ได้เข้าร่วมในงานประชุมกลุ่มย่อย (Focus group discussion) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม การแลกเปลี่ยนความเห็นและเสนอแนะแนวทางที่เป็นประโยชน์จากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนหน่วยงานอาทิ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ธนาคารกสิกรไทย กลุ่มบริษัทมิตรผล บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาข้อมูลทักษะและองค์ความรู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว (Green skills and knowledge concepts) ที่พึงประสงค์ในบริบทของอุตสาหกรรมของประเทศไทย จากผลการวิเคราะห์และประมวลข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทักษะและองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวในบริบทของอุตสาหกรรมไทย เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการวางแนวนโยบายและกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนในระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาสามารถวางแผนพัฒนาบุคลากรได้ตรงตามเป้าหมายของประเทศ
ผลการวิเคราะห์จัดกลุ่มความรู้และทักษะด้านยั่งยืนที่พึงประสงค์ในภาคอุตสาหกรรมของไทยทั้งหมด สามารถสรุปได้โดยจำแนกเป็นลักษณะของ พีระมิดที่มี 3 ระดับฐาน ประกอบด้วย
กลุ่ม (1) ระดับพื้นฐานพีระมิด คือ ทัศนคติและทักษะทางสังคม (Attitudes and soft skills) กลุ่ม (2) ระดับขั้นกลาง คือ ทักษะและองค์ความรู้เพื่อความยั่งยืนข้ามภาคส่วน (Cross-sectoral) และกลุ่ม (3) ระดับยอดพีระมิด คือ ทักษะและองค์ความรู้เพื่อความยั่งยืนเฉพาะภาคส่วน (Sector-specific) ซึ่งแยกได้เป็น 15 อุตสาหกรรม/ด้านย่อย ได้แก่ 1. ยานยนต์แห่งอนาคต (Future mobility) 2. อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Intelligent electronics) 3. อุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Tourism) 4. การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and biotechnology) 5. อาหารแห่งอนาคต (Future food) 6. หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Industrial robotics) 7. การบินและโลจิสติกส์ (Aviation and logistics) 8. พลังงาน เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Energy, biofuel and biochemicals) 9. ดิจิทัล (Digital) 10. การแพทย์ครบวงจร (Healthcare) 11. ป้องกันประเทศ (Defense) 12. สนับสนุนเศรษฐกิจยั่งยืน (Enabling sustainable economy) 13. พัฒนาบุคลากรและการศึกษา (Training and education) 14. การเงิน (Financial) 15. วิจัยและพัฒนา (Research and development)


ในการหารือครั้งนี้ ได้มีการเสนอขั้นตอนการพัฒนาทักษะ ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จ (Key success drivers) ความท้าทาย และข้อควรระวังจากภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงบทบาทแต่ละภาคส่วน ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนและความร่วมมือต่อไป คือ การออกแบบและพัฒนาทักษะจากความต้องการ (Demand) โดยการจัดลำดับความสำคัญ (Priority) ระบุกรอบเวลา (Time Frame) ในการพัฒนาแต่ละทักษะสีเขียวรายอุตสาหกรรมเป้าหมาย และคัดเลือกในการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ที่สำคัญเป็นพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศเพื่อเชื่อมโยงกับการดำเนินงานตาม Agenda หลักของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ความเป็นไปได้ในการจัดทำประกาศทักษะอันพึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับทักษะสีเขียวและความยั่งยืนในราชกิจจานุเบกษาต่อไป รวมถึงการพัฒนาสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการพัฒนาทักษะและการพัฒนากำลังคนทักษะสูง ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)






