(23 พฤษภาคม 2568) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ หน่วยวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินและระบบอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดประชุมรับฟังความเห็น โครงการศึกษากลไกด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับ (UAS Ecosystem) ด้านนวัตกรรม ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ณ อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 สอวช. และผ่านระบบออนไลน์
การประชุมฯ ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อชี้แจงรายละเอียดข้อมูลที่ได้จากการสืบค้นและเป้าหมายของโครงการ และกรอบการศึกษาเกี่ยวกับการส่งเสริมระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับ ด้านนวัตกรรม ในพื้นที่ EEC และเป็นการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และมุมมองจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน นำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายหรือแนวทางการส่งเสริมระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับที่ครอบคลุมและตอบโจทย์ความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมี รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดการประชุม

รศ.วงกต กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีระบบอากาศยานไร้คนขับ หรือ Unmanned Aerial Systems (UAS) ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วและเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายภาคส่วน ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการวิจัย ทดลอง ทดสอบ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี UAS ได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเป็นระบบ โดยเฉพาะใน EEC ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของประเทศ

จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ UAS เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา พบว่าที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันในหลายประเด็นที่สะท้อนถึงความจำเป็นต่อการพัฒนากลไกเชิงระบบเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับของประเทศดังนี้
1. ประเทศไทยมีความพร้อมในหลายด้าน แต่ระบบนิเวศโดยรวมยังต้องการกลไกสนับสนุนที่เป็นระบบและสอดคล้องกันในทุกมิติ ทั้งการบริหารจัดการ การกำกับดูแล การพัฒนาบุคลากร และการส่งเสริมนวัตกรรมเชิงพาณิชย์
2. ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการมี “แผนปฏิบัติการ” ที่ชัดเจน มี Milestone เชื่อมโยงบทบาทของแต่ละหน่วยงาน 3. ด้านการกำกับดูแล มีข้อเสนอให้พัฒนาและปรับปรุงกฎหมายและมาตรฐานต่าง ๆ ให้ทันสมัย ครอบคลุมและเหมาะสมกับเทคโนโลยี และ 4. ด้านการพัฒนาบุคลากร ควรเร่งเสริมทักษะเฉพาะด้าน พร้อมส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรร่วมระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคการศึกษา

การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ ในครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดเวทีให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ร่วมแสดงความเห็นต่อ (ร่าง) ข้อเสนอเชิงนโยบายฯ ใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1. ความเห็นต่อ (ร่าง) ข้อเสนอเชิงนโยบายฯ เพื่อให้มีความครอบคลุม สอดคล้องกับบริบทของประเทศและสามารถผลักดันเชิงนโยบายได้จริง 2. ข้อคิดเห็นเชิงลึกในประเด็นเฉพาะทาง ที่เกี่ยวข้องกับกลไกสำคัญของระบบนิเวศ UAS ได้แก่ ระบบบริหารจัดการจราจรอากาศยานไร้คนขับ (UAS Traffic Management: UTM) ระบบฝึกอบรมและรับรองผู้ปฏิบัติงานอากาศยานไร้คนขับ (Approved Training Organization: ATO) บริการและรูปแบบการใช้งานเชิงพาณิชย์ของโดรน (UAS Services) ศูนย์ซ่อมบำรุงและมาตรฐานการบำรุงรักษา (Maintenance, Repair, and Operation: MRO) และแนวทางการจัดตั้งศูนย์กลางบริการและการพัฒนาเทคโนโลยี UAS (UAS Center)

จากนั้น ผศ.ดร.สุรเดช ตัญตรัยรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัย ได้กล่าวนำเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการฯ และนายฐิติภัสร์ พงษ์กิตติวณิช ผู้ช่วยนักวิจัย ได้นำเสนอข้อมูลโครงการฯ โดยมีหัวข้อหลักในการสืบค้นข้อมูล ได้แก่ หัวข้อที่ 1 ศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มตลาดอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีด้านอากาศยานไร้คนขับในระดับสากล ภูมิภาค และประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ EEC หัวข้อที่ 2 ศึกษานโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีด้านอากาศยานไร้คนขับของต่างประเทศ อย่างน้อย 3 ประเทศ หัวข้อที่ 3 ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลสถานภาพปัจจุบัน แนวทาง/แผนการพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนาระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับ ด้านนวัตกรรม ในพื้นที่ EEC และหัวข้อที่ 4 ศึกษาแนวทางการดำเนินงานของการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ สำหรับระบบอากาศยานไร้คนขับและระบบอัตโนมัติ

สำหรับแนวโน้มการใช้งานอากาศยานไร้คนขับ พบว่าอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับในปี พ.ศ. 2567 มีศักยภาพในการเติบโตในระดับโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่มีบทบาทสำคัญในการใช้งานอากาศยานไร้คนขับมากที่สุด เมื่อเทียบจากโหมดการบินในระยะสายตา (Visual Line of Sight: VLOS) ซึ่งสถิติการขึ้นทะเบียนเครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (โดรน) จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567 มีการขึ้นทะเบียนกว่า 138,832 ลำ นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ศึกษาข้อมูลด้านนโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ของต่างประเทศ โดยได้ศึกษาทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ รวมถึงจุดเด่นของระบบในแต่ละประเทศด้วย



จากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล และการจัดกิจกรรมประชุมระดมความเห็นร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ได้ประเด็นสำคัญออกมาเป็น (ร่าง) กรอบข้อเสนอเชิงนโยบายฯ โดยมีเป้าหมายตั้งแต่ระยะสั้น (ภายใน 3 ปี) ระยะกลาง (3-5 ปี) ระยะยาว (5 ปีขึ้นไป) ด้านการพัฒนากำลังคน มีข้อเสนอในการส่งเสริมหลักสูตรฝึกอบรมด้าน ATO และ MRO ในพื้นที่ EEC เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรให้สอดรับกับผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยเน้นหลักสูตรด้าน AI, การทดสอบการบินนอกระยะสายตา (Beyond Visual Line of Sight: BVLOS) และเตรียมความพร้อมบุคลากรรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่เหมาะสมกับความต้องการของอุตสาหกรรมการบินในอนาคตตามมาตรฐาน ICAO (Next Generation of Aviation Professions: NGAP) เป็นต้น และส่งเสริมหลักสูตรวิศวกรรมการบินและอากาศยานในพื้นที่ EEC เพื่อผลิตนักออกแบบและวิศวกรโดรน รองรับการวิจัยและนวัตกรรมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี มีข้อเสนอในการพัฒนาโครงสร้างระบบ UTM ในระดับกลางถึงระดับสูง เช่น U2-U3 ของ U-Space เพื่อรองรับภารกิจเชิงพาณิชย์ รวมถึงเพิ่มเส้นทางการบินเชื่อมต่อในหลายพื้นที่ ให้สอดรับกับจำนวนโดรนที่เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาผลิตชิ้นส่วนอากาศยานไร้คนขับในพื้นที่ EEC เช่น อะไหล่อากาศยานไร้คนขับ, ระบบควบคุมหรืออื่น ๆ เพื่อยกระดับการผลิตภายในประเทศและลดการพึ่งพาต่างประเทศ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีข้อเสนอส่งเสริมการพัฒนาและใช้งานแพลตฟอร์ม เช่น ThaiUAS เพื่อเป็นเครื่องมือกลางในการบริหารจัดการ ทดสอบ รับรองมาตรฐานการใช้งานอากาศยานไร้คนขับอย่างครบวงจรในพื้นที่ EEC และส่งเสริมการพัฒนา UAS Sandbox หรือพื้นที่ผ่อนปรนพิเศษ ในพื้นที่ EEC ทั้งด้าน BVLOS รวมถึงพื้นที่เฉพาะสำหรับการให้บริการขนส่งทางอากาศด้วยอากาศยานไร้คนขับ และด้านการพัฒนากฎระเบียบและข้อบังคับ มีข้อเสนอสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานด้านอากาศยานไร้คนขับ และการบังคับใช้ในพื้นที่ทดสอบเฉพาะ (Sandbox) โดยเชื่อมโยงกับกลไกการรับรองระดับอุตสาหกรรม พร้อมจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาและบริการด้านมาตรฐาน เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศที่มีมาตรฐานและปลอดภัย รองรับการออกกฎระเบียบในอนาคต

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการประชุมฯ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ระหว่างผู้เข้าร่วมการประชุมฯ และคณะผู้วิจัย เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประกอบการออกแบบกลไก อววน. และแนวทางการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับต่อไป
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามการประชุมย้อนหลังได้ที่: https://www.facebook.com/share/v/16EqiPrbLP/