ดร.นุวงศ์ ชลคุป ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) และนายปรินันท์ วรรณสว่าง ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ สอวช. เข้าร่วมการประชุมสมัยที่ 21 ของคณะทำงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี และเทคโนโลยีแบบผสมผสาน (Working Party on Biotechnology, Nanotechnology, and Converging Technologies – BNCT) ภายใต้คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Committee for Scientific and Technological Policy – CSTP) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) เมื่อวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2568 ณ สำนักงานใหญ่ OECD ในกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

ที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและพัฒนาการใหม่ ๆ เกี่ยวกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี BNCT ในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย ดร.นุวงศ์ ได้รายงานต่อที่ประชุมถึงความคืบหน้าเรื่องการพัฒนาแผนที่นำทางเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) ซึ่งได้มีการก่อตั้ง SynBio Consortium ที่ได้มีการจัดประชุมวิชาการมาอย่างต่อเนื่องและได้ยกระดับขึ้นเป็นการประชุมนานาชาติในปีที่ 4 ที่ผ่านมา รวมถึงเรื่องการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีระยะ 5 ปี (Nanotechnology R&D Roadmap 2026-2030) และเรื่องยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565 – 2570

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับหน่วยงานและกิจกรรมด้านการประเมินเทคโนโลยี (Technology Assessment) หรือการคาดการณ์อนาคต (Foresight) ในแต่ละประเทศ ดร. นุวงศ์ ได้แนะนำที่ประชุมถึงบทบาทของศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight) ภายใต้ สอวช. ว่าเป็นหน่วยงานสำคัญที่ทำงานวิชาการ ให้คำปรึกษา และจัดการฝึกอบรม เกี่ยวกับการคาดการณ์อนาคตในไทยและเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งที่ผ่านมาได้มีบทบาทในการประเมินความต้องการเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environmental Facility: GEF) ซึ่งปัจจุบันศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปคได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรอบความร่วมมือด้านนโยบายด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของเอเปค (APEC’s Policy Partnership for Science, Technology and Innovation: PPSTI) เพื่อดำเนินงาน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการวิเคราะห์และคาดการณ์โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (EIDs) ในภูมิภาคเอเปค และโครงการระบุสัญญาณอุบัติใหม่ที่มีผลกระทบต่อความเป็นกลางทางคาร์บอนในภูมิภาคเอเปคโดยใช้วิธีคาดการณ์อนาคต

ที่ประชุมยังได้อภิปรายถึงพัฒนาการในเรื่องอื่น ๆ ที่อยู่ในความสนใจของ BNCT ได้แก่ 1) กรอบการบริหารเชิงคาดการณ์เทคโนโลยีอุบัติใหม่ (Framework of anticipatory governance of emerging technologies) ซึ่งอาศัยกระบวนการคาดการณ์และพยากรณ์เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น 2) พัฒนาการของเทคโนโลยีประสาท (neurotechnology) ที่ถูกเร่งรัดด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้มีประเด็นที่ต้องคำนึงในด้านสิทธิมนุษยชนและด้านจริยธรรม โดยเฉพาะเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลสมอง (brain data privacy) นอกเหนือจากประโยชน์ในทางการแพทย์ 3) การปฏิบัติตามข้อแนะนำของคณะมนตรี OECD ว่าด้วยการประกันคุณภาพในการทดสอบทางพันธุกรรมระดับโมเลกุล 4) ข่าวกรองเชิงยุทธศาสตร์และการประเมินเทคโนโลยีแบบมองไปข้างหน้าโดยมีกรณีศึกษาเป็นการบรรจบกันของเทคโนโลยี AI, Automation และ Robotics กับชีววิทยาสังเคราะห์ เทคโนโลยีชีวภาพกับเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งมีการนำเสนอเหตุผลและกระบวนการพัฒนาข้อแนะนำ OECD ว่าด้วยนวัตกรรมชีววิทยาสังเคราะห์ที่มีความรับผิดชอบ (OECD Recommendation on responsible innovation in synthetic biology) 5) แผนงานในอนาคตเกี่ยวกับเทคโนโลยีควอนตัม 6) รายงานการศึกษาเรื่อง “การบรรจบกันของเทคโนโลยี: แนวโน้ม โอกาส และนโยบาย” 7) ความมั่นคงด้านการวิจัยและเทคโนโลยีในระเบียบระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไป และ 8) รายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการตามระเบียบวาระนโยบาย วทน. เพื่อการเปลี่ยนแปลง
นับตั้งแต่ปี 2559 ประเทศไทยได้ร่วมงานกับ CSTP ในฐานะประเทศผู้มีส่วนร่วมที่ไม่ได้เป็นสมาชิก OECD โดยมีผู้แทน สอวช. เข้าร่วมการประชุม ร่วมดำเนินโครงการและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมของทั้ง OECD และประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน ไทยมีสถานะเป็นประเทศผู้สมัครที่อยู่ในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยจะต้องดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการต่าง ๆ ของ OECD อย่างใกล้ชิด (รวมถึง CSTP) ทั้งในการปรับปรุงมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD เพื่อบรรลุการเข้าเป็นสมาชิกในอนาคต โดยเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยสำเร็จได้ คือการแสดงออกถึงความมุ่งมั่น และความสามารถของประเทศไทยในการปฏิบัติตามตราสารทางกฎหมายของ OECD รวมทั้งการที่ประเทศไทยมีนโยบายและแนวปฏิบัติสอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD ในเรื่องนั้น ๆ ในกรณีของ CSTP มีตราสารทางกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับ BNCT นั้น สอวช. จึงเห็นว่าการเข้าร่วมการประชุม BNCT จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเทศสมาชิก OECD และประเทศผู้สมัครที่อยู่ในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม
การเข้าร่วมการประชุมของคณะผู้แทน สอวช. ในนามประเทศไทยนับว่าบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความรู้ อีกทั้งได้สานสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้แทนประเทศสมาชิกและผู้เชี่ยวชาญของ OECD ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทยต่อไป


