(28 เมษายน 2568) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อระบุช่องว่างและโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล (Medical and Personalized food) ณ ห้องประชุมหว้ากอ 2 สอวช. โดยมี ดร.สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวต้อนรับและชี้แจงวัตถุประสงค์การประชุม ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งในกลุ่มนักวิจัยของมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน


ดร.สิริพร กล่าวว่า สอวช. ได้ขับเคลื่อนเรื่องอาหารอนาคต หรือ Future Food มาระยะหนึ่ง โดยได้แบ่งกลุ่มอาหารอนาคตของไทยออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. อาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและสารประกอบเชิงฟังก์ชัน 2. อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล 3. ผลิตภัณฑ์อินทรีย์และอาหารไม่ปรุงแต่ง และ 4. โปรตีนทางเลือก ซึ่งในกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 4 ได้ดำเนินการรวบรวมข้อเสนอเชิงนโยบายและอยู่ระหว่างเสนอต่อสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติต่อไป โดยได้ตั้งเป้าหมายในภาพรวมให้อาหารอนาคตสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 330,000 ล้าน เป็น 500,000 ล้าน ภายในปี พ.ศ. 2570

“การประชุมในครั้งนี้เราเน้นที่อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล ซึ่งเดิมทีเรามีข้อมูลว่าภายในประเทศมีมูลค่าตลาดประมาณ 9,000 – 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงตัวเลขคาดการณ์ แต่ในความเป็นจริงแล้วตลาดอาหารในกลุ่มนี้มีศักยภาพมาก ถ้าได้มีการรวบรวมข้อมูลจริงที่ชัดเจนยิ่งขึ้นก็จะช่วยให้สามารถกำหนดเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ได้ นี่จึงถือเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับผู้ประกอบการว่าเรายังมีช่องว่างอะไรและเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะได้ทำงานร่วมกันต่อไป” ดร.สิริพร กล่าว

ด้าน นางสาวสิรินยา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจนวัตกรรม สอวช. ได้กล่าวถึง กรอบนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารอนาคต ว่า สอวช. ได้ทำกรอบนโยบายเรื่องอาหารอนาคตมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2567 ตั้งแต่การกำหนดนิยาม และจัดกลุ่มอาหารอนาคตในบริบทของไทย เพื่อใช้ในการออกแบบมาตรการสนับสนุน ตลอดจนใช้ในการติดตามตัวเลขต่าง ๆ อาทิ การส่งออกตาม HS-code โดยสามารถสรุปเป็นองค์ประกอบที่สำคัญได้ 3 อย่าง คือ ดีต่อสุขภาพคนยุคใหม่ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเรามองว่า อาหารอนาคตเป็น new s-curve ของอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 10% และได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 25% ซึ่งจากข้อมูลมูลค่าตลาดของอาหารอนาคตของโลก จากการแบ่งกลุ่มอาหารทั้ง 4 ประเภท มีอัตราการเติบโตสอดคล้องกับข้อมูลของประเทศไทย โดยในกลุ่มอาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล มีมูลค่าการส่งออก 6,300 ล้านบาท มีการเติบโต 6% และมูลค่าตลาดในประเทศอยู่ที่ 9,500 ล้านบาท

สำหรับเป้าหมายการสร้างมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมอาหารอนาคตรวม 500,000 ล้านบาท มีข้อเสนอหลักเพื่อสนับสนุนการไปสู่เป้าหมายดังล่าว แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. การต่อยอดอุตสาหกรรม ผ่านการดึงดูดการลงทุน
สารสกัดและโปรตีนขั้นสูงทั้งในและนอกประเทศ ทำให้วัตถุดิบของไทยมีมูลค่าสูงขึ้นและเชื่อมโยงกับตลาดปลายทาง 2. ต่อยอดวิจัยและพัฒนา มีการพัฒนาคอนเซอร์เทียมวิจัยและพัฒนากลุ่มสารสกัดและโปรตีน ที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงให้ครบทั้งห่วงโซ่อุปทานในการผลิต ที่จะต้องมีการให้ทุนตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ และ 3. ต่อยอดและพัฒนาตลาด ทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เกิดเป็นกลไกในการเพิ่มจำนวนสารที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปกล่าวอ้างทางสุขภาพได้ นอกจากนั้น ยังได้มีการยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบ และดูว่าห้องปฏิบัติการไหนที่ต้องการทุนสนับสนุนในการพัฒนาบริการให้ครอบคลุมสารต่าง ๆ มากขึ้น

ในส่วนของนิยามและขอบเขตอาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล อยู่ภายใต้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 238) พ.ศ.2544 เรื่อง อาหารวัตถุประสงค์พิเศษ แบ่งเป็น 1. อาหารผู้ป่วยเฉพาะโรค หรือผู้ที่มีสภาพผิดปกติทางร่างกาย เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โรคไต โรคตับ มะเร็ง หรือภาวะทุพโภชนาการ ใช้ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่อาหารทั่วไปที่บริโภคได้เอง ต้องมีมาตรฐานทางโภชนาการที่กำหนดไว้ เพื่อให้แน่ใจว่ามีสารอาหารที่เหมาะสมกับสภาวะของผู้ป่วย ตัวอย่างเช่น อาหารสูตรครบถ้วน (Complete Formula Diet) เช่น อาหารเหลวสำหรับผู้ป่วยที่รับประทานอาหารปกติไม่ได้ อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetic Medical Foods) ที่มีการควบคุมน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรต อาหารสูตรเฉพาะโรค (Disease-Specific Formulas) เช่น อาหารสำหรับผู้ป่วยไต หรืออาหารสำหรับโรคมะเร็ง อาหารทางการแพทย์แบบใช้ท่อให้อาหาร (Enteral Nutrition Products) ที่ใช้ในผู้ป่วยที่ต้องได้รับสารอาหารทางสายยาง 2. อาหารสําหรับผู้มีวัตถุประสงค์การบริโภคเป็นพิเศษ หมายถึง อาหารที่ถูกออกแบบหรือปรับแต่งให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละบุคคล ตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์อาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักตัว เป็นต้น


ทั้งนี้ ในการประชุม ได้มีการพูดคุยกลุ่มและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงความเข้าใจและมุมมองต่ออุตสาหกรรมอาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล ช่องว่างและอุปสรรคของอุตสาหกรรม รวมถึงข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวในประเทศไทย โดยผู้เข้าร่วมประชุมมีความเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็น ได้แก่ (1) งานวิจัยและพัฒนาสามารถช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบได้อย่างไร (2) การรวบรวมข้อมูลและพัฒนาห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ให้สามารถตรวจสารสำคัญได้ครบถ้วนและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ อาทิ ISO 17025 และ (3) การทำแนวทางปฏิบัติ (Guildline) ที่ชัดเจน เพื่ออำนวยความสะดวกการขึ้นทะเบียนอาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล
