
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดย รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการ สอวช. ดร.นุวงศ์ ชลคุป ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กลุ่มยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สอวช. และ ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย นักยุทธศาสตร์ 1 โครงการพิเศษนโยบายเทคโนโลยียานยนต์และการขนส่งแห่งอนาคต สอวช. ได้เข้าร่วมหารือกับ นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศ และแนวทางความร่วมมือระหว่าง กระทรวง อว. และ กระทรวงอุตสาหกรรมในอนาคต โดยมีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สถาบันยานยนต์ (สยย.) สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (TAIA) สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมหารือ ในวันที่ 21 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุม 203 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

โดยในที่ประชุม รศ.วงกต ได้นำเสนอถึงบทบาทของกระทรวง อว. ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่ง อว. ได้กำหนดนโยบายอย่างชัดเจนผ่านโครงการ “อว. For EV” ที่ประกอบด้วย 3 แผนงานสำคัญ ได้แก่:
- EV-HRD – การพัฒนาทักษะกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
- EV-Transformation – การส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้ อว. ปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
- EV-Innovation – การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ สอวช. ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายการพัฒนากำลังคนผ่านการ Up skill, Re skill และ New skill จำนวน 150,000 คนภายใน 5 ปี และพัฒนากำลังคนวัยทำงานและกำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน 5,000 คนต่อปี

ด้าน ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ได้กล่าวถึงที่มา นโยบาย และแนวทางที่ต้องดำเนินการเพื่อจัดทำ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยเน้นว่าประเทศไทยมีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายตามนโยบาย 30@30 ผ่านหลายรูปแบบ ทั้งนี้ ควรเลือกแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนผ่านที่สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมไทย

ด้าน ดร.นุวงศ์ ได้ให้ข้อมูลสนับสนุนเกี่ยวกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย พร้อมนำเสนอแผนและแนวทางความร่วมมือการพัฒนานโยบายระหว่าง สอวช. และ สศอ. อันประกอบด้วยการใช้เครื่องมือการคาดการณ์อนาคต (Foresight) เพื่อประกอบการออกแบบแผนที่นำทางด้านเทคโนโลยี (technology roadmap) และการจัดลำดับความสำคัญด้านเทคโนโลยี (technology prioritization) เพื่อสนับสนุนนโยบายยานยนต์สมัยใหม่ ตลอดจนนโยบายกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV-HRD) ต่อสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ด้านนายภาสกร กล่าวว่า การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยควรพิจารณาเทคโนโลยีที่ใช้ในยานยนต์ประเภทต่าง ๆ เช่น รถสันดาป, รถไฮบริด, รถไฟฟ้า และรถพลังงานไฮโดรเจน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ระดับโลก นอกจากนี้ การพัฒนากำลังคนถือเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบทักษะที่จำเป็นร่วมกับภาคอุตสาหกรรมสำหรับการพัฒนาบุคลากรทั้งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดิมและผู้ที่กำลังจะเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ ในขณะเดียวกันควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ และนวัตกรรมอื่น ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต โดยเฉพาะ Software-Defined Vehicle (SDV)







