×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมเสวนา iEVtech 2022 ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง: โอกาสและธุรกิจแห่งอนาคต

สอวช. ร่วมเสวนา iEVtech 2022 ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง: โอกาสและธุรกิจแห่งอนาคต

วันที่เผยแพร่ 5 ตุลาคม 2022 745 Views

ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย ผู้เชี่ยวชาญนโยบายอาวุโส สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมงานเสวนาเรื่อง EV Conversion: โอกาสและธุรกิจแห่งอนาคต เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2565 ภายในงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2022 EVAT TechForum จัดโดย สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ณ ห้องประชุม Conference Theater B ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยภายในงานมีการบรรยายในหัวข้อ รถยนต์และมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าดัดแปลง ตลอดจนงานเสวนาเรื่อง “ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง: โอกาส ความท้าทายการ สร้างคน สร้างงาน สร้างอาชีพใหม่” ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมที่เป็นคนไทยและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า “สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเล็งเห็นการเติบโตของธุรกิจด้าน EV conversion ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ และเชื่อว่าการสนับสนุนให้มีการดัดแปลง EV Conversion โดยมีการปรับปรุงตัวรถ ระบบกักเก็บพลังงานและระบบส่งกำลังไฟฟ้า ให้มีความปลอดภัยสำหรับใช้ในการเดินทางขนส่งสินค้าและการให้บริการ จะช่วยลดต้นทุน และเป็นการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างอาชีพใหม่ๆในอนาคตได้อีกด้วย ดังนั้น การพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อสร้าง “ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้า” โดยเฉพาะในวิทยาลัยอาชีวะศึกษาต่างๆ หัวข้อด้าน EV conversion จะเป็นโอกาสให้นักศึกษา ได้ทดลองลงมือปฏิบัติจริง เพื่อความรู้ ความเข้าใจในหัวข้อที่สำคัญสำหรับยานยนต์แห่งอนาคต ผมเองในนามสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย จึงเชื่อมั่นว่า หัวข้อ EVAT Tech Forum เรื่อง EV conversion : โอกาสและธุรกิจแห่งอนาคต โดยผู้เชี่ยวชาญด้าน EV conversion จะเป็นอีกหนึ่งขั้นบันได เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยต่อไปในอนาคต”

ดร.ดวิษ กิระชัยวนิช นักวิจัย ทีมวิจัยผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และอิเล็กทรอนิกส์กาลัง ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน NECTEC สวทช. กล่าวถึงเทคนิคต่างๆ ทางด้านการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะการพัฒนา Vehicle Control Unit VCU สำหรับการดัดแปลงรถยนต์ในท้องตลาด ทำให้การดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น โดยยังใช้ ECU เดิมของรถในการควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าเดิม เช่น เกียร์อัตโนมัติ ระบบไฟฟ้าต่างๆ ระบบ ABS ทำให้ผู้ดัดแปลงทำงานได้ง่ายขึ้น ความสำคัญที่ทางผู้บรรยาย ได้กล่าวถึงในเรื่องของการดัดแปลงยานยนต์สันดาปให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้า คือ “ประสิทธิภาพในการสร้างแรงขับเคลื่อนของมอเตอร์ไฟฟ้าสูงกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายใน ด้วยหลักการ 80/20” นอกจากนี้ ทางศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืนยังมีบริการด้านการจัดฝึกอบรมด้านการดัดแปลงรถยนต์สันดาปให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแก่ผู้สนใจทั่วไปและผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรม โดยจุดเด่นของบริการนี้คือ การทำความเข้าใจกับความต้องการของตลาดสู่การถ่ายทอดความรู้เพื่อยกระดับทักษะของทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด

ดร.ธงชัย จินาพันธ์ กรรมการ ประธานคณะทำงานฝ่ายข้อบังคับและมาตรฐาน สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า Electric Motorcycles Conversion: มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าดัดแปลงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศไทยในการที่จะก้าวไปสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตตามนโยบายของรัฐบาล

อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมว่าห่วงโซ่อุปทานและโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นใหม่สำหรับรองรับอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ายังไม่ครบวงจรต้องใช้เวลาในการพัฒนาและห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์น้ำมันเดิมจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านจากรถจักรยานยนต์น้ำมันเป็นไฟฟ้ามีจำนวนมากโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องยนต์และน้ำมันหล่อลื่นซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของอุตสาหกรรมซึ่งต้องให้เวลาอุตสาหกรรมและธุรกิจเหล่านี้ปรับตัวในขณะที่จำนวนรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนสะสมในประเทศไทยมีอยู่ประมาณมากกว่า 21 ล้านคัน จำเป็นต้องมีกระบวนการบริหารจัดการรถเก่าเหล่านี้อย่างถูกต้องไม่เป็นภาระและผลกระทบของประเทศ การแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยวิธีการดัดแปลงรถจักรยานยนต์น้ำมันเป็นไฟฟ้าคือคำตอบที่คลอบคลุมทั้งประโยชน์ในเชิงนโยบายของภาครัฐ เศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม

ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย สอวช. กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงก้าวหน้าไปมาก โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ให้ทุนสนับสนุนการทำงานวิจัยเชิงลึกในด้านนี้ทำให้เราได้เริ่มเห็นรถต้นแบบประเภทต่างๆ ออกมาวิ่งทดสอบการใช้งานกันมากขึ้น ซึ่งยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและมีความพร้อมในการผลิตในเชิงพาณิชย์ โดยในปีนี้ ได้มีการนำผลงานวิจัยไปจัดแสดงสู่สาธารณะเพื่อประชาชนทั่วไปได้ให้เห็นศักยภาพของภาคการวิจัยและผู้ประกอบการไทย เช่น การจัดแสดงใน 1. งาน BANGKOK INTERNATIONAL MOTOR SHOW 2022 กทม., 2. งาน  Low Carbon City & EV Expo 2022 จ.นครราชสีมา และ 3. งาน ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง : มิติใหม่ของกรุงเทพมหานคร ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้เข้าเยี่ยมชมผลงานเป็นอย่างดี นอกจากนี้ รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะออกนโยบายสนับสนุนเพื่อให้เกิดการวิจัยพัฒนาและใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่นี้ ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน/น้ำมันเชื้อเพลิง จากการเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าแล้ว ยังช่วยลดมลพิษทางอากาศ การไปสู่เป้าหมาย EV30@2030 การสร้างงาน สร้างอาชีพให้ประชาชน และสร้างความเข้มแข็งรองรับภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคตด้วย จึงนับว่าเป็นโอกาส และความท้าทายของประเทศไทยที่ต้องเร่งดำเนินการ

นายไพศาล ตั่งยะฤทธิ์ บริษัท อีวีคาร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การทำ EV Conversion นั้นจำเป็นต้องให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะด้านแบตเตอรี่ และมีความต้องการแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพดีและมีความปลอดภัย โดยที่ทางบริษัทอีวีคาร์เริ่มเปิดการอบรมให้กับช่างผู้ที่สนใจธุรกิจด้านการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า และมีอู่เริ่มดำเนินการธุรกิจนี้แล้วกว่าสิบราย

ผศ.ดร.ชนะ เยี่ยงกมลสิงห์ ผู้ดำเนินการเสวนา และกรรมการ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวสรุปว่า ในอนาคตเราน่าจะได้เห็นผู้ประกอบการไทยที่มีความรู้ในเชิงลึกที่จะสร้างองค์ความรู้ด้านการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร ทั้งผู้สอน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป และในอนาคตอาจมีผลิตภัณฑ์ด้านยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานที่มีมูลค่าสูงสุดในอุตสาหกรรมยานยนต์

เรื่องล่าสุด