×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “คณะกรรมการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ห่วงวิกฤติโควิด-19 เสนอสังคมปรับใช้แนวคิด UNESCO เพื่อรับมือกับการระบาดอย่างถูกหลักจริยธรรม

“คณะกรรมการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ห่วงวิกฤติโควิด-19 เสนอสังคมปรับใช้แนวคิด UNESCO เพื่อรับมือกับการระบาดอย่างถูกหลักจริยธรรม

วันที่เผยแพร่ 15 พฤษภาคม 2020 947 Views

คณะกรรมการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในความดูแลของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้แสดงความเป็นห่วงต่อกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยได้นำแนวปฏิบัติที่ยูเนสโกจัดทำขึ้น เกี่ยวกับประเด็นจริยธรรมที่สำคัญในระดับโลก ซึ่งมีเนื้อหาสาระและประเด็นที่น่าสนใจ อันจะเป็นประโยชน์ในการใช้ประกอบการตัดสินใจและการปฏิบัติร่วมกันของทุกฝ่าย ในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

โดยเนื้อหาในคำแถลงของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม (UNESCO International Bioethics Committee, IBC) และคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (UNESCO World Commission on the Ethics of Scientific Knowledge and Technology, COMEST) ต่อเรื่องโควิด-19 (COVID-19) : ข้อพิจารณาด้านจริยธรรมจากมุมมองระดับโลก มองว่า โควิด-19 เป็นโรคเฉียบพลันอุบัติใหม่ที่ระบาดกระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วทำให้จำเป็นต้องมีการพิจารณาและตอบสนองด้านชีวจริยธรรมในระดับโลก ประเด็นจริยธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ควรร่วมกันคิดอย่างรอบคอบถึงวิธีแก้ที่ยอมรับได้ในด้านจริยธรรม และเห็นว่ามุมมองด้านชีวจริยธรรมและจริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีรากฐานของสิทธิมนุษยชน น่าจะมีส่วนสำคัญในการตอบสนองความท้าทายจากโควิด-19 ที่โลกเราเผชิญอยู่ตอนนี้

โดยแนวทางปฏิบัติประเด็นจริยธรรมสำคัญที่ยูเนสโกจัดทำขึ้นเพื่อเสนอต่อรัฐบาลทั่วโลก ประกอบด้วยทั้งเรื่องนโยบายด้านสุขภาพและสังคมที่ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มั่นคงและควรให้การพิจารณาด้านจริยธรรมในระดับโลกเป็นตัวนำทาง การคำนึงถึงนโยบายที่ควรตั้งอยู่บนฐานความรู้และการปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ที่ดี ระบบและการเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพของประเทศต่างๆ การดูแลกลุ่มบุคคลที่เปราะบางในช่วงที่มีโรคระบาด การบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารในภาวะวิกฤติ แนวทางปฏิบัติด้านจริยธรรมเกี่ยวกับงานวิจัยและการทดสอบทางคลินิกในการหายารักษาและวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ประเด็นด้านจริยธรรมเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการสนับสนุนแนวทางการพึ่งพากันระหว่างประเทศในการรับมือกับโควิด-19

ด้าน นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีสารเกี่ยวกับการเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือกันทั้งในส่วนการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติตามมาตรการเชิงนโยบายเพื่อให้ทุกฝ่ายผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกันอย่างปลอดภัย โดยเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายผู้มีอำนาจระดับนโยบายที่จะต้องตัดสินใจ แต่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้และตัดสินใจ รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่จำเป็น

จากสถานการณ์และความพยายามในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคทำให้เห็นชัดเจนถึงความจำเป็นที่จะต้องหาความสมดุลระหว่างการช่วยกันทำให้สุขภาพของประชากรดีและปลอดภัยร่วมกับการสามารถใช้ชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ถูกกระทบมากจนเกินไป ปัญหาท้าทายปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นการต้องเลือกระหว่างสุขภาพ  หรือเศรษฐกิจ รวมไปถึงการคำนึงถึงสิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ความจริงที่ว่าทั้งสามส่วนนี้อาจอยู่รวมกันได้ และสามารถเกิดรูปธรรมใหม่อันเนื่องมาจากความพยายามที่จะร่วมกันต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้

การสร้างเป้าหมายร่วมกันและการยอมรับในหลักการพื้นฐานบางอย่างร่วมกันในการกำหนดมาตรการและการปฏิบัติตนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การต่อสู้ในครั้งนี้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม ซึ่งหลักการพื้นฐานชุดหนึ่งคือหลักการทางจริยธรรม (ethical principles) องค์การยูเนสโกในฐานะองค์การชำนาญพิเศษของสหประชาชาติมีแผนงานที่เกี่ยวข้องกับชีวจริยธรรม (bioethics) และจริยธรรมว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ethics of sciences and technology) โดยมีคณะกรรมการสองชุด ร่วมกันพิจารณาถึงสถานการณ์และความพยายามในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้และได้จัดทำแนวปฏิบัติที่อยู่บนฐานจริยธรรมเพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ โดยประเทศไทยซึ่งมีคณะกรรมการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในความดูแลของ สอวช. เห็นว่า แนวปฏิบัติที่ยูเนสโกจัดทำขึ้น (รายละเอียดตามเอกสารแนบ) มีเนื้อหาสาระและประเด็นที่น่าสนใจ อันจะเป็นประโยชน์ใช้ประกอบการตัดสินใจ และการปฏิบัติร่วมกันของทุกฝ่าย ในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังดำเนินการอยู่และเผชิญอยู่ในขณะนี้

และจากความพยายามที่จะทำให้เกิดมาตรการทั้งทางนโยบายซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสังคม รวมถึงการจัดระบบบริการสุขภาพเพื่อดูแลผู้เจ็บป่วยที่จำเป็นต้องได้รับสนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถให้รับมือกับคนไข้ที่เพิ่มขึ้นจากการระบาด ทำให้เห็นชัดถึงความพยายามในการหาสมดุลระหว่างการมีสุขภาพที่ดี การมีเศรษฐกิจที่ไม่สะดุด และการเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

มีตัวอย่างมากมายจากความพยายามที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่การตัดสินใจว่าจะต้องมีมาตรการที่ควบคุมการเคลื่อนย้ายประชากรจากต่างประเทศและในประเทศ การทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ว่าเป็นการผลิตในโรงงาน กิจการร้านอาหาร การจับจ่ายใช้สอยในศูนย์การค้าต่างๆ กิจกรรมทางศาสนา การใช้พื้นที่สาธารณะ การขนส่งและการเดินทางสาธารณะ ฯลฯ โดยมาตรการเหล่านี้มีเป้าหมายสำคัญคือ ลดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยให้อยู่ในระดับที่ระบบบริการสาธารณสุขจะรับมือได้ โดยรวมชัดเจนว่านโยบายและมาตรการมีเป้าหมายทางสุขภาพที่ดีของประชากรโดยรวมแม้จะต้องกระทบการผลิตทางเศรษฐกิจหรือแม้กระทั่งเสรีภาพในการทำตามความต้องการของระดับปัจเจก และคงยากที่จะบอกว่ามาตรการใดถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี เพราะทั้งหมดเป็นสิ่งที่ต้องตัดสินใจภายใต้ความไม่แน่นอนและความรู้ที่มีอยู่อย่างจำกัด ประเทศต่างๆ ตัดสินใจปรับกิจกรรมหรือมาตรการในลักษณะแตกต่างกัน เกิดผลแตกต่างกัน กลายเป็นตัวอย่างและบทเรียนให้ประเทศอื่นๆ สามารถนำไปปฏิบัติและเป็นแนวทางได้ ประเทศไทยมีระบบและระบบการเฝ้าระวังควบคุมโรคที่ได้ชื่อว่าเข้มแข็งแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศจะไม่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดสมดุลดังที่ยกตัวอย่างมา

ท่ามกลางการหาทางควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและบทบาทของชุมชนนักวิจัยที่จะต้องร่วมกันสร้างความรู้และเรียนรู้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและมาตรการต่างๆ ที่จะเหมาะสมและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันท่วงทีกับการควบคุมโรค ไม่ใช่เพียงในบริบทประเทศแต่สำหรับโลกทั้งใบ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความพยายามที่จะต้องทำงานแข่งกับเวลา มาตรฐานและข้อกำหนดทางจริยธรรมว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลายเป็นประเด็นท้าทายว่า ชุมชนนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับโลกและในประเทศไทยจะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความรู้ให้ทันกับการรับมือการระบาดของโรคได้มากน้อยเพียงใด กลไกที่เรียกว่ากลไกพิจารณาทางจริยธรรมของการวิจัยกลายเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการทำงานแข่งกับเวลาไปพร้อมกับการปกป้องผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการการทำวิจัยไปพร้อมกัน อีกกลไกคือการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอาจต้องปรับเปลี่ยนโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว

นโยบายจำกัดการเคลื่อนไหวและการทำกิจกรรมต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเว้นระยะห่างในสังคม สามารถตัดตอนการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้มาก แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความไม่สะดวกในการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันของปัจเจก ที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อการผลิตทางเศรษฐกิจหรือกิจกรรมที่สร้างเศรษฐกิจของสังคมโดยรวมอย่างมหาศาล จนถึงขั้นที่รัฐบาลในหลายประเทศจะต้องลงทุนหางบประมาณจำนวนมากมาให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเป้าหมายสำคัญหนึ่งของการช่วยเหลือคือต้องเกิดความเป็นธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การปกป้องกลุ่มประชากรที่เปราะบางหรือยากจน กลายเป็นคำถามท้าทายการดำเนินนโยบายในบริบทเช่นนี้

นอกจากนี้ ความจำเป็นในการทำให้ระบบบริการสุขภาพสามารถจะรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยที่มีอยู่เดิมนั้น ประเทศต่างๆ คงไม่อาจทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างในระบบสุขภาพ เพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 โดยไม่คำนึงถึงการดูแลสุขภาพของประชาชนที่เจ็บป่วยและต้องพึ่งพาระบบบริการสาธารณสุขในช่วงเวลาก่อนการมาของโควิด-19 ด้านหนึ่งรัฐบาลก็ต้องลงทุนสนับสนุนให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น อีกด้านหนึ่งระบบบริการสาธารณสุขก็ต้องหาทางปรับตัวออกแบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับระบบบริการสุขภาพซึ่งต้องรับมือกับความท้าทายใหม่ซึ่งอาจจะอยู่กับระบบไปอีกนาน

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่คณะกรรมการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หวังว่าการนำเอาหลักจริยธรรมมาใช้ประกอบในการกำหนดนโยบายหรือแม้กระทั่งการปฏิบัติตัวของระดับปัจเจกหรือขององค์กรน่าจะมีแนวทางทำให้เกิดสมดุลและเกิดความร่วมมือในสังคม เนื่องจากทุกฝ่ายมองเห็นประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าการทำตามความเคยชินหรือสิ่งที่เคยทำมาแต่เดิม

คณะกรรมการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยหวังว่า ทุกฝ่ายในสังคมจะได้เรียนรู้หรือแม้กระทั่งปรับใช้แนวคิดทางจริยธรรมที่ยูเนสโกได้จัดทำขึ้นมาในครั้งนี้ โดยผสมผสานแนวคิด ประสบการณ์ที่มาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของไทย เพื่อให้การควบคุมการระบาดในครั้งนี้เป็นโอกาสในการทำให้เกิดการทำงานร่วมกันของฝ่ายต่างๆ ด้วยความเข้าใจและทำให้สังคมไทยมีโอกาสมองและร่วมกันจินตนาการถึงสังคมใหม่หลังโควิด-19 ที่หลายอย่างอาจต้องแตกต่างไปจากเดิม เพราะมองเห็นโอกาสและความจำเป็น ที่สำคัญคือ เห็นศักยภาพของสังคมไทยอันมาพร้อมกับการร่วมกันต่อสู้กับโรคระบาดในครั้งนี้

Download เอกสาร

Tags:

เรื่องล่าสุด