(24 กรกฎาคม 2568) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการ สอวช. และ ดร.ชโลธร บุญเหลือ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เข้าร่วมหารือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดย นางสาวเอิบลาภ ศรีภิรมย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าท่องเที่ยว ททท. ในประเด็น “การพัฒนาแนวทางและกลไกด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศไทย” โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงระบบและพัฒนากลไก อววน. ในการส่งเสริมและยกระดับภาคการท่องเที่ยวของไทย สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ชูแนวคิด “Regenerative Tourism” สร้างการท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะนำมาใช้ในการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและพื้นที่นำร่อง โดยคำนึงถึงผลกระทบเชิงบวกที่จะเกิดขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยวมุ่งเน้นฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชนและวิถีชีวิต รวมถึงศิลปะและวัฒนธรรมได้อย่างแท้จริง ด้วยกลไก อววน. รวมถึงมีแนวทางเชื่อมโยงฐานข้อมูล Big Data และระบบวิเคราะห์ AI เพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายและพัฒนาพื้นที่นำร่องด้วยกลไก อววน. ผลักดัน 5 ประเด็นเร่งด่วน ได้แก่
- การนำร่องโครงการ Regenerative Tourism ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ
- การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน โดยเชื่อมโยงกับเกณฑ์เป้าหมายการท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism Goals: STGs) และเป้าหมาย Net Zero
- การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับเทศกาลไทย สู่ระดับนานาชาติ
- การพัฒนากำลังคนด้านการท่องเที่ยว ทั้งสายอาชีพ ผู้ประกอบการ และ Travel Content Creator ผ่านหลักสูตร Reskill/Upskill และแพลตฟอร์ม STEMPLUS
- การสร้างความร่วมมือในระดับนโยบายและท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนระบบนิเวศการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับ Soft Power, Creator Economy, และเศรษฐกิจฐานราก

ชูพื้นที่นำร่องในการส่งเสริมและพัฒนาต้นแบบ Regenerative Tourism ของประเทศไทย
หนึ่งในไฮไลต์ของการหารือคือการผลักดันพื้นที่นำร่องเพื่อพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวฟื้นสร้าง โดยมี Landscape ในการพัฒนาที่อาศัยสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่เป็นศูนย์กลาง (Regenerative Tourism Lab) เช่น น่าน นครราชสีมา ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ เป็นต้น
ยกระดับ “เทศกาลท้องถิ่น” เป็นกลไกเศรษฐกิจ–สังคม สู่มาตรฐานโลก
โดยแนวคิดเทศกาลไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมวัฒนธรรมแต่กลายเป็น “เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ” ที่มีศักยภาพสร้างรายได้หมุนเวียน จ้างงานชั่วคราว และผลักดันเศรษฐกิจฐานราก โดย สอวช. ได้นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนงานเทศกาลขนาดใหญ่ (Festival) ด้วยกลไก อววน. ที่เน้นการทำงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ของกระทรวง อว. มาปรับใช้เพื่อให้การจัดงานได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับจากนักท่องเที่ยว การพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการจัดงานเทศกาลขนาดใหญ่ รวมทั้งการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนการบริหารพื้นที่เพื่อรองรับการจัดงาน Festival โดยให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่มีส่วนร่วม
สอวช. นำเสนอ Festival Landscape ที่พัฒนาขึ้นจากงานวิจัยเพื่อดูศักยภาพงานเทศกาลของไทยที่สามารถยกระดับไปสู่สากลได้ รวมทั้งเสนอต้นแบบงาน Pride Thailand ให้เป็นเทศกาลร่วมสมัยที่ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ งานวิจัย และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อแสดงอัตลักษณ์ไทยอย่างสร้างสรรค์ พร้อมเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์และ Soft Power ของประเทศ และแนวคิดโครงการ Phuket VegFest 2026 ที่จะยกระดับงานถือศีลกินผักของจังหวัดภูเก็ต โดยเสริมสุขภาพให้ผู้ร่วมงานด้วยนวัตกรรมอาหาร “Plant Rich Food”
เดินหน้าพัฒนาบุคลากรและคอนเทนต์สร้างสรรค์ สร้างแบรนด์ “Thai Travel Creator”
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการหารือคือการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยและครีเอเตอร์ โดยตั้งเป้าพัฒนา Thai Travel Content Creator ผ่านการอบรมทักษะดิจิทัล การใช้ Generative AI การสร้างตัวตนออนไลน์ และการตลาดเชิงเนื้อหา เพื่อสร้างสรรค์เรื่องราวใหม่ ๆ ของการท่องเที่ยวไทย ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในระดับนานาชาติ มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนเพื่อสร้างสรรค์เรื่องราวการท่องเที่ยวไทยมุมมองใหม่ คนในชุมชนและคนรุ่นใหม่ในสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ นำเสนอความสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมในพื้นที่ของตนในประเทศไทย และเสนองานวิจัยที่ศึกษาเรื่องราวของพื้นที่ในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต สามารถบอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและมีข้อมูลอ้างอิงได้
