สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานปลัดกระทรวง อว. และมูลนิธิเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Foundation หรือ ASEF) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการชุด (workshop series) หัวข้อ Navigating Science and Technology Diplomacy Ecosystems (การนำทางสู่ระบบนิเวศการทูตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ซึ่งประกอบด้วยการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) 3 ครั้งต่อเนื่องกันในเดือนกรกฎาคม 2568 ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Webinar โดยจัดเป็นครั้งแรกในวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความริเริ่มการทูตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเอเชีย-ยุโรป การประชุมเชิงปฏิบัติการชุดนี้ต่อยอดจากงานวิจัยที่ปรากฏใน Asia-Europe Science & Technology Diplomacy Report: Mapping Science & Technology Diplomacy Strategies and Actions in the Two Regions ที่จัดทำในปี 2567 และเผยแพร่ในปี 2568 ซึ่งเป็นเสมือนแผนที่แสดงสถานะของการทูตวิทยาศาสตร์ในทั้งสองภูมิภาค ผ่านการเปรียบเทียบยุทธศาสตร์ ลำดับความสำคัญ และเครื่องมือที่แต่ละประเทศมี งานวิจัยพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่บูรณาการการทูตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ เข้ากับการทูตนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืน การทูตวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ของไทยใช้รูปแบบกระจายอำนาจ ที่เปิดทางให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายได้มีส่วนในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมระดับชาติด้วยแนวทางที่ยืดหยุ่น โดยไทยวางตำแหน่งเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีสีเขียว และเทคโนโลยีอวกาศ


การประชุมครั้งที่ 1 ว่าด้วยเรื่องบทบาทของยุทธศาสตร์และการปฏิบัติของภาครัฐในระบบนิเวศการทูต วทน. ของไทย เริ่มด้วยการกล่าวต้อนรับของ Mr. Zhang Lei รองผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิเอเชีย-ยุโรป นางจุฬามณี ชาติสุวรรณ มนตรีฝ่ายไทยประจำมูลนิธิเอเชีย-ยุโรป และรองศาสตราจารย์วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการ สอวช. ต่อด้วยการบรรยายพิเศษของนางสาลินี ผลประไพ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และตามด้วยการอภิปรายและช่วงถามตอบ โดยมีผู้ร่วมอภิปรายคือ รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการหน่วยงานขับเคลื่อนข้อมูลเชิงลึกเพื่อการบริหารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ดร.กาญจนา วานิชกร ผู้อำนวยการการพัฒนารายสาขา แผนกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และนายฐิติเดช ตุลารักษ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน โดยมี ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ สอวช. ดำเนินการอภิปราย


ตลอดการประชุม ผู้ร่วมประชุมให้ความสนใจร่วมส่งคำถามและข้อคิดเห็นถึงวิทยากรที่ฉายภาพให้เห็นผู้เล่นที่สำคัญ บทบาท และกลไกในระบบการทูต วทน. ของไทย การทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และหน่วยงานหลักในระบบ วทน. ในการขับเคลื่อนการทูต วทน. ในหลายแง่มุม ทั้งนี้ กต. ได้บรรจุเรื่องการทูตวิทยาศาสตร์ไว้ในแผนแม่บทด้านการต่างประเทศของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยบูรณาการไว้เป็นเสาหลักเสาหนึ่งของการทูตเศรษฐกิจ ซึ่งเน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีเลิศระหว่างประเทศในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความก้าวหน้าของการพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ ASEF ได้เผยแพร่วีดิทัศน์บันทึกการประชุม รายการ ASEFSciTechDiplo: Navigating Thailand’s Science and Technology Diplomacy Ecosystems – Workshop 1 สามารถรับชมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=g1DF826lqRs
สำหรับการประชุมครั้งที่ 2 ว่าด้วยบทบาทของสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย และการประชุมครั้งที่ 3 ว่าด้วยบทบาทของภาคธุรกิจ จะจัดขึ้นในวันที่ 14 และ 21 กรกฎาคมนี้ตามลำดับ เวลา 14.00 – 16.00 น. สามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการประชุมเชิงปฏิบัติการชุดนี้ ได้ทางเว็บไซต์ https://asef.org/projects/navigating-thailands-science-and-technology-diplomacy-ecosystem/
