(2 กรกฎาคม 2568) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight: APEC CTF) ร่วมดำเนินงานและสนับสนุนในการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านนโยบายสาธารณะ “The 7th International Conference on Public Policy (ICPP7)” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 4 กรกฎาคม 2568 ณ ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ (Chiang Mai International Exhibition and Convention Center)

การประชุม ICPP7 จัดโดย International Public Policy Association (IPPA) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่ส่งเสริมการวิจัยและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะ โดยมีการจัดการประชุมใหญ่เป็นประจำทุก 2 ปี และในปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ โดย สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (School of Public Policy)

สำหรับ ICPP7 ครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในการประชุมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสมาคม โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมมากถึง 1,100 คน จากกว่า 75 ประเทศทั่วโลก โดย 80% เข้าร่วมแบบ Onsite พร้อมมีการสนับสนุนทุนเข้าร่วมประชุม (Grants) จำนวน 221 ทุน มีการจัดเวทีอภิปรายรวมทั้งสิ้น 261 เวที และมีการนำเสนอผลงานวิชาการกว่า 1,044 เรื่อง ซึ่งในจำนวนนี้ 33% เป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก (PhD students) สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางภูมิศาสตร์และความเข้มข้นทางวิชาการของงานประชุม


การประชุมเริ่มต้นด้วยการกล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการโดย ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช., Executive Director APEC CTF และในนามตัวแทนประเทศไทย ได้กล่าวถึงความสำคัญของการออกแบบนโยบายสาธารณะเชิงรุก ที่ต้องมองการณ์ไกล รับมือกับความเปลี่ยนแปลง และเตรียมพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน

“นโยบายสาธารณะในโลกยุคใหม่ต้องเปลี่ยนจากการ ‘ตอบสนอง’ ไปสู่การ ‘วางแผนเชิงรุก’ โดยใช้เครื่องมือการคาดการณ์อนาคต (Foresight) อย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถออกแบบนโยบายที่ยืดหยุ่น รอบด้าน และนำพาประเทศไปสู่อนาคตอย่างมั่นคง” ดร.สุรชัย กล่าว

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค ได้เป็นเจ้าภาพจัดเวทีเสวนาวิชาการภายใต้หัวข้อ “T05P01: Strategic Foresight and Policy Design: Applying Foresights Towards Disruptive Transformations” นำโดย ดร.คมเมธ จิตวานิชไพบูลย์ Deputy Director APEC CTF และทีมงาน ได้คัดเลือกผลงานวิชาการที่โดดเด่นจากนักวิจัยทั่วโลก เพื่อสะท้อนการประยุกต์ใช้เครื่องมือ Foresight ในหลากหลายบริบท ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การแพทย์ ดิจิทัล นโยบายพลังงาน การเปลี่ยนผ่านเชิงระบบ รวมถึงกรณีศึกษาของประเทศไทย



การมีส่วนร่วมของ สอวช. และศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปคในครั้งนี้ ไม่เพียงสะท้อนบทบาทของประเทศไทยในการขับเคลื่อนแนวคิด “นโยบายอนาคต” แต่ยังเปิดโอกาสให้ไทยก้าวขึ้นสู่ผู้นำด้าน Foresight และการออกแบบนโยบายที่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก การประชุม ICPP7 ถือเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย และผู้กำหนดนโยบายจากทั่วโลก เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนานโยบายสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนในศตวรรษที่ 21

