messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับ STIPI มจธ. จัดพิธีปิดหลักสูตร STIP รุ่นที่ 7 ตั้งเป้าพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่อง เพื่อสร้างเครือข่ายนักนโยบายที่เข้มแข็ง เกิดการต่อยอดนโยบายสู่การพัฒนาประเทศชาติได้จริง

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับ STIPI มจธ. จัดพิธีปิดหลักสูตร STIP รุ่นที่ 7 ตั้งเป้าพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่อง เพื่อสร้างเครือข่ายนักนโยบายที่เข้มแข็ง เกิดการต่อยอดนโยบายสู่การพัฒนาประเทศชาติได้จริง

วันที่เผยแพร่ 4 กรกฎาคม 2025 12 Views

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดพิธีปิดและมอบประกาศนียบัตร หลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รุ่นที่ 7 (Science Technology and Innovation Policy Design Program: STIP07) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2568 ณ ห้องพิมานบอลรูม ชั้น 12 โรงแรม แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ลุมพินี กรุงเทพฯ โดยมี ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. และ รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวปิดการอบรมและมอบประกาศนียบัตร

ดร.สุรชัย กล่าวว่า นอกจากหลักสูตร STIP นำไปสู่การเสริมความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในกระบวนการทำนโยบายแล้ว ยังเป็นการรวมกลุ่มคนที่สนใจนโยบายและมีส่วนร่วมในการทำนโยบายเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายต่อไปด้วย ซึ่งการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญไม่แพ้กับการทำนโยบายที่ดี การจัดทำหลักสูตรครั้งนี้จึงได้ออกแบบให้มีองค์ประกอบที่ครอบคลุมและเกิดประโยชน์ต่อการทำงานร่วมกันในอนาคต โดยพบว่าหลักสูตรนี้มีการพัฒนาขึ้นในประเด็นต่าง ๆ คือ 1. ประเด็นนโยบายของแต่ละกลุ่มทำได้ดีและชัดเจนมากขึ้นจนสามารถนำไปผลักดันต่อเป็นนโยบายได้จริง 2. มีการให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือใหม่ ๆ ในการทำนโยบาย เช่น วิธีคิดต้นทุนของการทำนโยบาย 3. มีที่ปรึกษา โค้ช ผู้ทรงคุณวุฒิ จากหลากหลายสาขาความเชี่ยวชาญ เข้ามาให้ความรู้ และให้ข้อคิดเห็นในการทำนโยบาย ช่วยเติมเต็มข้อมูลความรู้ให้กับผู้ทำนโยบายในแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น หวังว่าผู้เข้าร่วมการอบรมจะเกิดเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน และในครั้งต่อไปก็จะพัฒนาหลักสูตรให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

ด้าน รศ.ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า หลักสูตร STIP เป็นหลักสูตรที่จัดทำขึ้นด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาขีดความสามารถของผู้บริหารและบุคลากรด้านนโยบายให้สามารถออกแบบนโยบายที่เท่าทันและตอบโจทย์ต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) หลักสูตรนี้ไม่ได้เน้นเพียงองค์ความรู้เชิงทฤษฎี แต่ยังให้ความสำคัญกับการลงมือปฏิบัติ รวมถึงการสร้างเครือข่ายนักนโยบายและการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

รศ.ดร.สุวิทย์ ยังได้กล่าวชื่นชมในความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้เข้าอบรมที่ได้ร่วมกันเรียนรู้ คิด วิเคราะห์และออกแบบนโยบายที่มีคุณค่าและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดยนโยบายเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพ ความคิดสร้างสรรค์และความห่วงใยต่อสังคมอย่างแท้จริง หวังว่าความรู้และประสบการณ์จากหลักสูตรนี้จะถูกนำไปต่อยอดและขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติจริง เพื่อประโยชน์ต่อหน่วยงาน สังคมและประเทศชาติในระยะยาวต่อไป

ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผู้อำนวยการ STIPI มจธ. กล่าวว่า หลักสูตรนี้จัดขึ้นมาแล้ว 7 รุ่น มีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 350 คน จาก 46 หน่วยงาน สำหรับรุ่นที่ 7 มีผู้สำเร็จการศึกษา 58 คน 35 หน่วยงาน ทั้งในและนอกระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) และมาทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ทำให้เกิดเครือข่ายนักพัฒนานโยบายเพื่อร่วมผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป โดยหลักสูตร STIP ถูกออกแบบให้ผู้เข้าอบรม หรือ STIPER มี 3 สิ่ง คือ 1. มีฉันทะและวิสัยทัศน์ที่อยากเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ดียิ่งขึ้น 2. มีเครื่องมือและขีดความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ และ 3. มีเพื่อนร่วมทางที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศ การออกแบบหลักสูตรสำหรับการเรียนรู้ตลอด 3 เดือน จึงประกอบด้วย 4 โมดูล คือ 1) การทำความเข้าใจปัญหาและโอกาสของประเทศ เพื่อวางเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ 2) การเรียนรู้เครื่องมือการวิเคราะห์และออกแบบนโยบาย 3) การนำเครื่องมือด้านนโยบายมาทดลองในการทำงานกลุ่มและการฝึกปฏิบัติจริง รวมถึงการนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายในพิธีปิดหลักสูตร และ 4) การสร้างเครือข่ายชาว STIPER โดยมีช่วงเวลาให้แต่ละคนได้แบ่งปันความรู้ และยังมีกิจกรรมเครือข่ายให้ผู้เข้าร่วมการอบรมแต่ละรุ่นได้มาพบปะกันด้วย

“การทำงานของ STIPI ร่วมกับชาว STIPER จะไม่จบอยู่แค่ในหลักสูตร 3 เดือนนี้ แต่เราจะทำงานร่วมกันต่อ เพื่อให้แน่ใจว่าวิสัยทัศน์ ความใฝ่ฝันเพื่อการพัฒนาประเทศไทยจะถูกส่งต่อไป สร้างความมั่นใจว่าเครื่องมือทางนโยบายที่ได้เรียนรู้ในหลักสูตรนี้จะถูกใช้งาน และสายสัมพันธ์ระหว่าง STIPER จะไม่ขาดตอน เพื่อตอกย้ำประเด็นสำคัญว่า หลักสูตร STIP ไม่ใช่หลักสูตรเพื่อการสอนหนังสือหรือการแสวงหารายได้ แต่คือแพลตฟอร์มในการสร้างพันธมิตรเพื่อการพัฒนาประเทศไทยต่อไป” ดร.แบ๊งค์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับการอบรมในปีนี้ผู้เข้าร่วมอบรมได้แบ่งกลุ่มการนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 “SENIOR SMART LOCAL” “ยกระดับศักยภาพผู้สูงวัยในชุมชนท้องถิ่นไทย เพื่อขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมสู่ภาคบริการอย่างยั่งยืน” (ได้รับรางวัลระดับดีเยี่ยม) กลุ่มที่ 2 นโยบายการส่งเสริมการป้องกันโรคสมองเสื่อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่เหมาะสม (ได้รับรางวัลระดับดี) กลุ่มที่ 3 ข้อเสนอนโยบายการเสริมประสิทธิภาพแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากภัยพิบัติในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (ระยะก่อนเกิดเหตุ ระยะเผชิญเหตุ และระยะหลังเกิดเหตุ) ด้วยการใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านการยกระดับ Traffy Fondue สู่ Traffy Fondue Care Plus+ (ได้รับรางวัลระดับดีเด่น) กลุ่มที่ 4 ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการขยะอาหารในชุมชนเมือง (กรุงเทพฯ) กลุ่มที่ 5 เส้นทางสู่ความสำเร็จของอาหารริมบาทวิถี (Street food) ผ่านย่านสร้างสรรค์: ตลาดพลู

Tags: #STIP

เรื่องล่าสุด