messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับ โรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไทย

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับ โรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไทย

วันที่เผยแพร่ 2 มิถุนายน 2025 34 Views

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ โรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นที่มีต่อ (ร่าง) รายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของไทยและกลุ่มประเทศเป้าหมาย ซึ่งเป็นรายงานที่จัดทำขึ้น เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่โลกและอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไทย ตลอดจนสังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไทย ให้สามารถเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมแบตเตอรี่โลกได้อย่างยั่งยืน โดยงานสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 เวลา 13:00 – 16:30 ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 และ 2 สอวช. อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 กรุงเทพมหานคร และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom นอกจากนี้ งานสัมมนาครั้งนี้  ได้รับเกียรติจาก รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการ สอวช. เป็นประธานกล่าวเปิดและเป็นผู้นำการสัมมนา (Moderator) และมีผู้เข้าร่วมแบบ On-site จำนวน 60 คน และแบบ Online จำนวน 200 คน รวมทั้งสิ้น 260 คน จากหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ กว่า 40 หน่วยงาน

งานสัมมนาครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองช่วง ช่วงแรกเป็นการนำเสนอเนื้อหาของ (ร่าง) รายงานฯ โดยเริ่มต้นจาก ดร.ณัฐนัย คุณานุสนธิ์ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. นำเสนอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่โลก จากนั้น ผศ.ดร.แก้วตา เจตศรีสุภาพ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี มข. และ ดร.ณัฐนัย ร่วมกันนำเสนอภาพรวมและแนวโน้มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในห่วงโซ่มูลค่าแบตเตอรี่โลกและไทย ต่อมา รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มข. นำเสนอแนวโน้มและภาพรวมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่โลกและไทย และสิ้นสุดการนำเสนอในช่วงแรก โดย ผศ.ดร. จักรพันธ์ สุขสวัสดิ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ นำเสนออนาคตและแนวทางอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไทย มข.

สำหรับภาพรวมการนำเสนอเนื้อหา (ร่าง) รายงานฯ ในช่วงแรก คณาจารย์ผู้นำเสนอได้ฉายภาพให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่โลก ที่มีมูลค่ารวมสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศไทยหลายเท่าตัว อีกทั้งมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอีก 5–10 ปีข้างหน้า รวมถึงศักยภาพของประเทศไทยที่สามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมแบตเตอรี่โลก ผ่านการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบและชิ้นส่วน (Material & Cell Component Producer) สำหรับการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ เช่น Carbon Additive หรือ กาว เป็นต้น ซึ่งเป็นตลาดที่มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนสูงและมีการแข่งขันที่ไม่รุนแรงเข้มข้นเท่ากับการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญที่ประเทศไทยต้องเผชิญนั้น มีหลายประการ ประการแรก คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ก้าวกระโดดในแต่ละปี ประการต่อมา คือ กำลังการผลิตแบตเตอรี่โลกในปัจจุบันที่มีมากกว่าความต้องการแบตเตอรี่ในตลาดโลกกว่า 1.5 เท่า ทำให้ราคาแบตเตอรี่โลกลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการตั้งโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศรอบข้างประเทศไทย เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม และประการสุดท้าย คือ  การขาดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของประเทศไทย ทำให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไทยเป็นไปในลักษณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแยกส่วนกัน ขาดหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องให้สอดประสานและทำงานร่วมกัน (Integration) และขาดการมองภาพองค์รวม (Holistic View) ซึ่งการจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ต่างๆ ในห่วงโซ่มูลค่าแบตเตอรี่ไทย ควรมีวิสัยทัศน์และเห็นภาพรวมร่วมกัน ที่จะกำหนดว่า ประเทศไทยจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าแบตเตอรี่โลกในฐานะผู้ผลิตอะไร ต้องเข้าในจังหวะไหน และต้องใช้ชุดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนในลักษณะใด ประเทศไทยจึงจะมีที่ยืนในห่วงโซ่มูลค่าแบตเตอรี่โลก หรือ เป็นที่ยอมรับของผู้ผลิต/ผู้ใช้งานแบตเตอรี่จากทั่วทุกมุมโลก

ต่อมาช่วงที่สอง เป็นการแสดงความเห็นจากผู้เข้าร่วมงานสัมมนาทั้งในห้องประชุมและห้อง Chat ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom  โดยผู้เข้าร่วมงานสัมมนาได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

  1. ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีแนวทางการจัดการแบตเตอรี่เสื่อมสภาพที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการนำแบตเตอรี่กลับมาใช้ใหม่ (repurpose หรือ second life) การขนส่งและการจัดเก็บขยะแบตเตอรี่ ตลอดจนถึงการขออนุญาตนำเข้าขยะแบตเตอรี่จากต่างประเทศ เพื่อให้มีปริมาณขยะแบตเตอรี่มากพอจะดำเนินกิจการโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ในประเทศได้
  2. ประเทศไทยควรพิจารณาการพัฒนาบุคลากรด้านแบตเตอรี่ เช่น ปัจจุบันมีรถ EV จำนวนมาก ที่ถึงรอบในการซ่อมบำรุง ช่างซ่อมแบตเตอรี่ วิศวกรแบตเตอรี่ จึงขาดแคลน และคนที่จะซ่อมแบตเตอรี่ได้จะต้องมี Certificate พิเศษ มีค่าแรงหรือค่าบำรุงรักษาในการซ่อมแบตเตอรี่ หรือ Maintenance แบตเตอรี่ค่อนข้างดี เพื่อรองรับความต้องการการบำรุงรักษาแบตเตอรี่ที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนภายในประเทศ ตลอดจนพัฒนาความสามารถในระดับที่สูงมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่จากผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศที่ลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทย
  3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรด้านแบตเตอรี่ เช่น มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ควรพิจารณาปรับรูปแบบเนื้อหาและการสอน โดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการออกแบบหลักสูตรร่วมกับเอกชน (ภาคอุตสาหกรรม) ให้ โอกาสนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหรืออาชีวะศึกษาได้เรียนรู้จากภาคอุตสาหกรรมผ่านการฝึกงาน เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะ (Skill) ที่สามารถประยุกต์ใช้กับหน้างานได้จริง ตลอดจนมุ่งทำการวิจัยและพัฒนาต้นแบบที่สามารถต่อยอดให้เป็นอุตสาหกรรม (Industrialization) ได้จริง มากกว่าเป็นการวิจัยระดับปริญญาโท-เอก เพื่อมุ่งหวังเพื่อการตีพิมพ์ทางวิชาการ (Publication) เพียงอย่างเดียว
  4. เนื่องจากอุตสาหกรรมแบตเตอรี่เป็นอุตสาหกรรมที่มี Dynamic สูง ทั้งความรวดเร็วในการวิจัยและพัฒนา (R&D) เทคโนโลยี ตลอดจนถึงการบริหารความเสี่ยงด้านอุปสงค์ (Demand Risk Management) ซึ่งนับว่าเป็นเป้าหมายในการพัฒนาไปสู่ที่เคลื่อนที่ตลอดเวลา (Moving Target) ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไม่สามารถใช้วิธีไล่กวด (Catchup) เทคโนโลยีให้ทันกับความเร็วในการพัฒนาประเทศชั้นนำในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ได้ ประกอบกับประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำแบตเตอรี่โลก มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ (Specialization) ด้านความรวดเร็ว (Speed) กล่าวคือ โรงงานแบตเตอรี่จีนสามารถตั้งสายการผลิต (Production Line) แบตเตอรี่ได้ภายในระยะเวลา 60 วัน ทำให้ระยะเวลาทำต้นแบบให้เป็นอุตสาหกรรม จากห้องทดลอง (Lab) ไปสู่สายการผลิต (Line) นั้นมีระยะเวลาสั้น
  5. ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไทยจึงควรต้องมองมุมกลับ โดยมองจากความต้องการประยุกต์ใช้แบตเตอรี่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน ศูนย์เก็บข้อมูล ระบบโทรคมนาคม เครื่องมือแพทย์ การป้องกันประเทศ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การบินสมัยใหม่ ฯลฯ ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่ยังมีโอกาสและมีช่องว่างให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเติบโตไปพร้อมกันได้ แล้วจึงย้อนกลับไปพิจารณา/พัฒนาเทคโนโลยี และองค์ประกอบในระบบนิเวศที่จำเป็นให้ตอบสนองความต้องการ การใช้งานในแต่ละความต้องการได้
  6. นอกเหนือจากการตอบสนองความต้องการใช้แบตเตอรี่ที่แตกต่างของในแต่ละอุตสาหกรรมแล้ว ประเทศไทยควรหาจุดที่ผู้เล่นในห่วงโซ่มูลค่าโลก (เช่น ประเทศจีน) ยังไม่มุ่งดำเนินการ หรือมีช่องว่าง หรือยังมีข้อจำกัดในการดำเนินการหรือยังไม่เน้นในการทำธุรกิจ โดยการสร้างความร่วมมือพัฒนาความสามารถของบุคลากรไทยเพื่อให้สามารถเปิดประตูบานแรกเข้าสู่อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ในส่วนที่เป็นช่องว่างนี้ในช่วงแรกให้ได้ก่อน (เช่น คนไทยสามารถสร้างจุดแข็งด้านการใช้ภาษาอังกฤษเข้าไปช่วยในด้านการเจรจา หารือในการหาปัญหาและแก้ปัญหาให้กับการสื่อสารระดับนานาชาติ การมีหัวใจในการให้บริการ (Service Mind) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการหลังการขาย (Aftersales Service) ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ประเทศไทยมี และประเทศจีนไม่สามารถสู้ได้ หรือจะยังไม่ทำ เนื่องจากถูกปลูกฝังมาให้มุ่งเป้าหมายที่แตกต่างกัน ทำให้ไทยให้สามารถตอบสนองความต้องการที่ขาดหายไปในส่วนนี้ได้ และเติบโตไปด้วยกัน) เมื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมได้แล้วจากนั้นค่อยพัฒนาความสามารถเพื่อเข้าสู่ประตูบานที่สองที่จะทำงานที่ยกระดับความสามารถที่สูงมากขึ้นได้ ซึ่งจะสร้างผลกระทบเชิงบวกได้หลายทางในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการวางแผน และการให้การสนับสนุนร่วมกันของภาครัฐอย่างเป็นระบบ การสร้างความร่วมมือทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ

เรื่องล่าสุด