messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาเอเชีย เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาทักษะบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมสีเขียว ตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจในอนาคต

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาเอเชีย เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาทักษะบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมสีเขียว ตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจในอนาคต

วันที่เผยแพร่ 10 มิถุนายน 2025 114 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) จัดงานประชุม ADB Design Clinic ในหัวข้อ “Investing in Skills for Future Jobs in Green and Competitive Economies” เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2568 ณ ห้องประชุมหว้ากอ 2 ชั้น 14 อาคารจัตุรัสจามจุรี สอวช. ซึ่งการจัดประชุมครั้งนี้ได้รวบรวมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาและผู้กำหนดนโยบายจากประเทศสมาชิกของ ADB รวมถึงผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของ ADB และตัวแทนภาคอุตสาหกรรม เพื่อค้นหาแนวทางการเชื่อมโยงภาคการศึกษา ทั้งระดับการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา (Technical and Vocational Education and Training : TVET) และระดับอุดมศึกษา เข้ากับกลยุทธ์อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อการพัฒนาทักษะของบุคลากรให้ตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจในอนาคต โดยมี รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

รศ.วงกต กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศเอเชียและแปซิฟิกต่างผลักดันแนวทางการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งความพยายามเหล่านี้ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนของอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และสังคมของเรา รวมถึงสร้างความต้องการใหม่ ๆ ขึ้น โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทักษะแรงงาน ในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ ระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และยังต้องช่วยกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นด้วย ซึ่งในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย กำลังประสบปัญหาช่องว่างระหว่างศักยภาพแรงงานในปัจจุบันกับทักษะที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมสีเขียวและอุตสาหกรรมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาด เกษตรยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล หรือการผลิตที่คำนึงถึงความยั่งยืน ความต้องการบุคลากรที่พร้อมรองรับอุตสาหกรรมเหล่านี้จึงเพิ่มมากขึ้นด้วย

“สอวช. เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญ ที่จะทำให้เราได้มองระบบการศึกษาในฐานะตัวช่วยเชิง
กลยุทธ์ในการพัฒนาประเทศ การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับนวัตกรรมและความต้องการของอุตสาหกรรม จะทำให้เราสามารถสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่น สร้างความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนสำหรับทุกคนได้” รศ.วงกต กล่าว

การจัดประชุมในรูปแบบ Design Clinic ซึ่งเป็นเวทีสำหรับการหารือและการทำงานร่วมกัน โดยเราจะได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนจากหลายประเทศในเอเชีย ได้เห็นกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง และเรียนรู้จากความท้าทายและความสำเร็จที่เกิดขึ้น ที่สำคัญจะทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายร่วมกัน เห็นความชัดเจนว่าควรลงทุนด้านการพัฒนาทักษะกำลังคนอย่างไร ให้พร้อมสำหรับการทำงานด้านเศรษฐกิจสีเขียวในอนาคต สำหรับประเทศไทย แนวคิดนี้ยังสอดคล้องกับทิศทางของประเทศ รวมถึงโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy (BCG) ที่แสดงให้เห็นว่า นวัตกรรม ความยั่งยืน และ
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีความเชื่อมโยงกันทั้งหมด

นางสาวภาณิศา หาญพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอุดมศึกษาและการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต สอวช. ได้บรรยายถึงกรณีศึกษาโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีของประเทศไทย ที่ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา โดย Bioeconomy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลทางธรรมชาติ โดยใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างนวัตกรรม Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน คือระบบเศรษฐกิจที่ทรัพยากรทั้งหมดสามารถฟื้นฟูและนำกลับมาใช้ใหม่ได้เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดแคลนทรัพยากร และ Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว คือรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นโยบายเศรษฐกิจบีซีจี จะมองการพัฒนาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือยอดและฐานของพีระมิด ส่วนยอดพีระมิดเป็นกลุ่มคนที่จะใช้ความรู้ เทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนาด้านการผลิตอย่างเข้มข้น ส่วนฐานของพีระมิด จะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก มีการใช้เทคโนโลยี หรือความรู้ในระดับที่ไม่สูงนัก แต่เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมและเข้าถึงคนได้ในจำนวนมาก นำมาใช้เป็นฐานสนับสนุนการผลิต โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ เกษตรและอาหาร พลังงานและวัสดุ สุขภาพและการแพทย์ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ตัวอย่างการขับเคลื่อนที่สำคัญ อาทิ การผลักดันอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food) การขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ SMEs ด้วย BCG เพื่อการยกระดับผู้ประกอบการ แนวคิดการพัฒนามหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) หรือ เครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Campus)

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้มีการจัดการเสวนาร่วมกัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาของแต่ละประเทศ เช่น Nanyang Technological University ประเทศสิงค์โปร์ มีการจัดการเรียนการสอนด้านการจัดการและการเป็นผู้ประกอบการเพื่อความยั่งยืน  พร้อมจัดตั้งศูนย์วิจัยและนวัตกรรม และทำความร่วมมือกับต่างประเทศ  เช่น อินโดนีเซีย ในการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน รวมถึงภาครัฐให้การสนับสนุนการดำเนินการทั้งด้านนโบบายสีเขียว การพัฒนาทักษะ งานวิจัย และการให้ทุนด้านพลังงานแห่งอนาคต ประเทศเวียดนาม มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาสีเขียว พร้อมสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนหรือเครือข่ายนานาชาติ เพื่อรองรับงานที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีการบูรณาการแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเข้ากับภาคการศึกษา ตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับสถาบันอุดมศึกษา และระดับอาชีวศึกษา เห็นได้จากการมีนโยบายด้าน BCG และด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อให้ภาคการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะสีเขียวหรือทักษะด้านสิ่งแวดล้อมให้กับนักศึกษาและบุคคลทั่วไป เพื่อรองรับการประกอบอาชีพที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนาทักษะของบุคลากรและการจัดการหรือการดำเนินงานของสถาบันการศึกษาที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น โครงการ Green TVET Workforce โดย ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการประเมินคุณภาพการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โครงการ Green University and Smart Campus โดย รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) รวมถึงนางสาวศุภนารี โพธิ์อ่อง จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand Board of Investment: BOI) ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดยมีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียวและพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

นอกจากนี้ ในวันที่ 5 มิถุนายน 2568 ได้มีการเยี่ยมชมศูนย์พัฒนานวัตกรรมอาหาร (FACTory Classroom)   สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งมีความร่วมมือกับภาคเอกชนในด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหาร ที่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์สูงสุดจากวัตถุดิบและเศรษฐกิจชีวภาพ และเยี่ยมชมบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนและการมีการดำเนินงานที่มุ่งเน้นสู่ความยั่งยืน

การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของภาคส่วนต่าง ๆ ของไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในการร่วมกันผลักดันนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสีเขียว และขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคสู่ความยั่งยืนในอนาคต

เรื่องล่าสุด