
(4 มิถุนายน 2568) ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมพิธีเปิดศูนย์พัฒนากำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ (National Semiconductor Training Centers: NSTCs) และเปิดสมาคมการค้าอุตสาหกรรมไทยเซมิคอนดักเตอร์ (Thai Semiconductor Industry Trade Association: THSIA) โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธี และมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้ช่วยปลัดกระทรวง อว. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. เข้าร่วม ณ หอประชุมเบญจรัตน์ อาคารนวมินทรราชินี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และ อุทยานเทคโนโลยี มจพ. หลังจากนั้น ได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการผลิตบรรจุภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และศูนย์ความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีวิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่และระบบอัตโนมัติ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ.

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า เซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของโลก เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต ประเทศไทยต้องเร่งการเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ก้าวทันต่อเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่หรือ New Growth Engine เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ไทยจึงต้องเร่งสร้าง “กำลังคนสมรรถนะสูง” ให้มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของบริษัทภายในประเทศรวมถึงเพื่อรองรับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มเติมในอนาคต

“กระทรวง อว. ได้กำหนดแผนอย่างเป็นระบบภายใต้กรอบนโยบาย “อว. for Semiconductor” ตั้งเป้าหมายพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง จำนวน 80,000 คน ภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2569–2573) มุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานชั้นนำระดับโลก และขับเคลื่อนโปรแกรมการผลิตและพัฒนากำลังคนในหลากหลายรูปแบบ อาทิ โครงการ Semiconductor Bootcamp เพื่อเตรียมนักศึกษาชั้นปี 3 – 4 เข้าสู่อุตสาหกรรมจริง การพัฒนาหลักสูตรเฉพาะทางด้านวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หลักสูตรระยะสั้นเพื่อ Upskill/Reskill โปรแกรม Train the trainer เพื่อพัฒนาอาจารย์และนักวิจัย ตลอดจนทุนปริญญาเอกแบบมุ่งเป้าด้าน IC Design โดยเฉพาะการจัดตั้ง National Semiconductor Training Centers ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการพัฒนากำลังคน และการสร้างความร่วมมือเชิงลึกร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ หากการดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ ไทยจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก นำไปสู่การยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ” รมว. กระทรวง อว. กล่าว

ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า กระทรวง อว. ได้ผลักดันการสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงอย่างเป็นระบบ มีการจัดทำแผนการพัฒนากำลังคนและขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบ
บูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเข้มข้น พร้อมริเริ่มจัดตั้ง National Semiconductor Training Centers ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานแกนกลางในการประสานความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และเครือข่ายระดับโลก กำหนดทิศทาง และสนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตร การฝึกอบรม และการวิจัย โดยในระยะแรก อว. ได้คัดเลือกสถาบันที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่แตกต่างกัน จำนวน 3 แห่ง เพื่อให้การพัฒนากำลังคนครอบคลุมตลอด Value Chain ประกอบด้วย 1. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จะมุ่งเน้นการอบรมในด้าน IC Testing และการขับเคลื่อนเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาที่ดำเนินการหลักสูตร Sandbox วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ 2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มุ่งเน้นการอบรมในด้าน IC Packaging และการสร้างความร่วมมือในเชิงลึกกับภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ และ 3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มุ่งเน้นการอบรมในด้าน IC and PCB Layout Design และการสร้างความร่วมมือเชิงลึกกับสถาบันต่างประเทศ
“ในปี 2568 ตั้งเป้าพัฒนากำลังคนอย่างน้อย 1,200 คน พร้อมทั้งขยายเครือข่ายความร่วมมือกับสถานประกอบการและสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ มากกว่า 10 แห่ง กระทรวง อว. ขอย้ำถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อน National Semiconductor Training Centers ให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากำลังคนอย่างเป็นระบบเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศไทย ให้สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” ปลัดกระทรวง อว. กล่าว



ด้าน ดร.สุรชัย กล่าวถึงบทบาทของ สอวช. ว่า เราได้มีการวิเคราะห์ว่าประเทศไทยมีศักยภาพในด้านใด และส่วนไหนที่ควรมุ่งเน้น จากนั้นจึงวางตำแหน่ง (Positioning) ของประเทศไทยในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ากระทรวง อว. ไม่เพียงแต่เดินหน้าด้านการเพิ่มปริมาณกำลังคน แต่ยังได้วางรากฐานอย่างมีกลยุทธ์ โดยได้วางเป้าหมายและแนวทางการพัฒนากำลังคนในแต่ละส่วนของ Value Chain ในส่วนแรกคือ IC Design มุ่งเน้นการสร้าง IC Designer ควบคู่ไปกับการบ่มเพาะให้เกิด Technology Innovator ส่วนที่ 2 คือ Wafer Fabrication จะเตรียมการสร้างคนที่มีสหวิทยาการ (Interdisciplinary) เพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และในส่วนที่ 3 ที่เป็น Assembly, Testing และ Packaging Chip จะต้องมุ่งเน้นการเพิ่มจำนวนบุคลากรวิจัยเพื่อรองรับการขยาย R&D Center มาสู่ไทยมากขึ้น