ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวเปิดการประชุม Thailand-Australia Food Innovation Dialogue 2025 ซึ่งเป็นกิจกรรมความร่วมมือภายใต้โครงการ Thailand-Australia Innovation in Food for Sustainability (IF4S) ที่เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง สอวช. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ Commonwealth Scientific and Industrial Research Organisation (CSIRO) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 โดยโครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย ภายใต้ Southeast Asia and Australia Government to Government Partnerships Program (SEAG2G) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันนวัตกรรมด้านอาหารแห่งอนาคตอย่างยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือด้านงานวิจัย

ดร.สุรชัย กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างระบบนิเวศด้านอาหาร ผ่านการบูรณาการนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม เพื่อยกระดับขีดความสามารถของห่วงโซ่คุณค่าอาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยกระทรวง อว. มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมอาหารของประเทศ ขณะเดียวกัน สอวช. มุ่งพัฒนานโยบายด้านเกษตรยั่งยืนและอาหารแห่งอนาคต ผ่านการสนับสนุนงบประมาณ การปรับปรุงกฎระเบียบ และสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ส่วน บพข. สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมโดยเชื่อมโยงมหาวิทยาลัย สตาร์ทอัพ และ SMEs เพื่อสร้างเศรษฐกิจอาหารที่แข่งขันได้ในระดับโลก

ความร่วมมือระหว่างไทยและออสเตรเลียในด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และนโยบาย ซึ่งดำเนินมาอย่างยาวนาน ทั้งผ่านการแลกเปลี่ยนนักวิจัยและโครงการร่วม ได้สะท้อนถึงบทบาทของการทูตเชิงวิทยาศาสตร์ ในการเชื่อมโยงนักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย และภาคอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันออกแบบแนวทางที่ตอบโจทย์ความท้าทายร่วม และวางรากฐานความร่วมมือที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในประเด็นด้านความมั่นคงและความยั่งยืนทางอาหาร

ด้าน Dr. Angela Macdonald เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในอนาคต โดยเฉพาะในด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ การทำวิจัยร่วมกัน ตลอดจนการกำหนดนโยบายระดับประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาไทยและออสเตรเลียมีความร่วมมือในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงกับแนวคิดอาหารแห่งอนาคต นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ทั้งสองประเทศสามารถร่วมมือกันได้ต่อไป อาทิ สิ่งแวดล้อม พลังงาน การแพทย์ และสุขภาพ โดยหวังว่าการหารือในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็ง และความเป็นหุ้นส่วนที่ยั่งยืนระหว่างสองประเทศ

นางสาวอาจารี ศรีรัตนบัลล์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา ได้ร่วมกล่าวเปิดงานผ่านวิดีโอบันทึกข้อความ โดยเน้นถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบนิเวศด้านอาหารซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมชี้ให้เห็นถึงบทบาทของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมนวัตกรรมอาหารอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนภาคเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และย้ำถึงศักยภาพของออสเตรเลียในฐานะพันธมิตรที่แข็งแกร่งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านอาหารและเกษตรระหว่างสองประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี การลงทุน และการยกระดับทักษะบุคลากรของไทยให้แข่งขันได้ในระดับสากลอย่างยั่งยืน


การประชุมยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกจากนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสองประเทศ โดย Dr. Crispin Howitt, Future Protein Lead จาก CSIRO นำเสนอข้อมูลว่าภายในปี 2050 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.8 พันล้านคน ขณะที่พื้นที่เกษตรลดลงถึง 55% และความต้องการโปรตีนเพิ่มขึ้นถึง 71% จึงเกิดความจำเป็นในการพัฒนาโปรตีนทางเลือก เช่น โปรตีนจากพืชและโปรตีนชนิดใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีล้ำหน้าอย่าง AI และการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่มูลค่า ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาอาหารแห่งอนาคตควรขับเคลื่อนในระดับอุตสาหกรรม ควบคู่กับระบบอาหารเดิม เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในด้านรสชาติ ราคา โภชนาการ และการมีทางเลือกโปรตีนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ด้าน ผศ.ดร. อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ที่ปรึกษาอาวุโส บพข. ระบุว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการเกษตรและแปรรูปอาหาร และเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก โดยมีการสนับสนุนจากภาครัฐผ่านกลไกหลัก เช่น สวทช. และ PMUC อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ประเทศยังเผชิญความท้าทาย ทั้งด้านแรงงาน กฎระเบียบ และการเข้าถึงทุน พร้อมข้อจำกัดด้านนวัตกรรมและบุคลากรทักษะสูง การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตจึงต้องอาศัยความร่วมมือข้ามภาคส่วน การลงทุนวิจัย การพัฒนาทักษะ และการปรับปรุงนโยบายเพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
Amelia Fyfield, Director of Southeast Asia Innovation Programs, CSIRO และ รศ.ดร. ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รักษาการรองผู้อำนวยการกลุ่มงานด้านกลยุทธ์วิจัย บพข. ได้นำเสนอแนวทางความร่วมมือภายใต้โปรแกรม Innovation in Food for Sustainability (IF4S) ซึ่งมุ่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อรับมือกับความท้าทายของระบบอาหารโลก และขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคตในด้านอาหาร เกษตรกรรม และโปรตีนทางเลือก โดยความร่วมมือดังกล่าวประกอบด้วย 3 กลไกหลัก ได้แก่ เวทีเสวนาประจำปีเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนโยบาย การให้ทุนวิจัยร่วมในหัวข้อที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ ภายใต้โครงการทวิภาคีระยะเวลา 3 ปี และโครงการ Venture Exchange ที่มุ่งเชื่อมโยงนักวิจัยและผู้ประกอบการจากทั้งสองประเทศเพื่อสร้างพันธมิตรเชิงพาณิชย์และงานวิจัยร่วม แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับบทบาทของ บพข. ที่สนับสนุนทุนวิจัยในอุตสาหกรรมอาหารอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเชื่อมโยงภาควิชาการ ภาคเอกชน สตาร์ทอัพ และ SMEs เพื่อยกระดับเทคโนโลยีสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ และออกแบบกลไกสนับสนุนแบบครบวงจร ทั้งด้านการวิจัย การพัฒนา การขยายตลาด และการยกระดับทักษะแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต

ภายในงานยังจัดให้มีเวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนจากหลากหลายภาคส่วน อาทิ Dr. Robert Barlow, Research Director of Food Program จาก CSIRO, นางสาวสิรินยา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจนวัตกรรม สอวช., นายประวิทย์ ประกฤตศรี ที่ปรึกษา สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ศ.ดร. ภาวิณี ชินะโชติ หัวหน้าเครือข่าย Food Innovation & Regulation Network (FIRN) และ Prof. Andy Hall, Senior Principal Research Scientist จาก CSIRO โดยมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับแนวโน้มของเทคโนโลยีอาหารในอนาคต เช่น การประยุกต์ใช้วิศวกรรมชีวภาพและชีววิทยาสังเคราะห์ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อผลิตส่วนผสมอาหารเฉพาะทาง รวมถึงการยกระดับเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น การแปรรูปชานอ้อยเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ซึ่งมีตัวอย่างความสำเร็จจากภาคเอกชนไทย

การเสวนายังเน้นย้ำถึงโอกาสในการต่อยอดความร่วมมือไทย-ออสเตรเลีย ผ่านการประยุกต์ใช้โมเดลการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของออสเตรเลีย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหาร การออกแบบเครื่องมือทางการเงินที่จูงใจภาคธุรกิจรายใหญ่ให้ร่วมมือกับผู้ผลิตท้องถิ่น การพัฒนาทักษะบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน ตลอดจนการทำความเข้าใจตลาดเชิงลึกและการประเมินความเสี่ยงเชิงนโยบายเพื่อป้องกันอุปสรรคทางการค้า พร้อมเสนอให้จัดตั้งกลไกสนับสนุนที่ครอบคลุม ตั้งแต่การให้ทุน การส่งเสริมจาก BOI ไปจนถึงความร่วมมือข้ามพรมแดน อาทิ ระบบอาชีวศึกษา (TVET) ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ทั้งหมดนี้มุ่งยกระดับขีดความสามารถของนวัตกรรมอาหารไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในเวทีโลก


