ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้รับเชิญให้เป็นผู้บรรยายหลัก (Keynote Speaker) ในงาน TNChE Asia 2025 ภายใต้ธีม “Embracing Uncertainty: Unleashing Value in the Evolving Industrial Landscape” จัดโดย สมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 โดย ดร.สุรชัย ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ “Global Climate Technology and Technology Transfer Mechanism” ณ โรงแรมดุสิตธานี เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

ดร.สุรชัย กล่าวว่า ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology) กลายเป็นสาขา (Sector) ที่สำคัญในการสร้างมูลค่าและรายได้ให้กับประเทศ ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจสีเขียว และเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดทิศทางของนโยบายและกฎระเบียบในหลายประเทศ ซึ่งส่งผลต่อมาตรการทางการค้าที่เปลี่ยนไป

Climate Technology กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าตลาดจะเพิ่มจาก 59.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2556–2562 และเพิ่มเป็น 220.3 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2578 โดยมีสหรัฐฯ และจีนเป็นผู้นำในภาคส่วนนี้ ท่ามกลางบริบทของการแข่งขันที่สอดแทรกในมาตรการทางการค้า จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ยังเชื่อมโยงกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยภาคส่วนและประเภทที่เทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศมีบทบาทที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า เกษตร ไฮโดรเจน โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และการดักจับคาร์บอน ซึ่งล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality and Net Zero Emission)

ประเทศไทยเป็นตัวอย่างของประเทศที่ได้นำแนวคิดระบบนวัตกรรมแห่งชาติมาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อน เทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศร่วมกับเครือข่ายอย่างเป็นรูปธรรม โดย สอวช. ในฐานะหน่วยประสานงานระดับประเทศ (National Designated Entity: NDE) ได้มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงกลไกระหว่างประเทศกับระบบภายในประเทศ ทั้งในด้านการประเมินความต้องการเทคโนโลยี (TNA) การเชื่อมโยงแหล่งทุน เช่น กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (GCF) และ และกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) การเสนอเชิงนโยบาย กองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการขับเคลื่อนโครงการนวัตกรรม เช่น Saraburi Sandbox และ Net Zero Campus

ดร.สุรชัย ยังได้ถ่ายทอดวิสัยทัศน์และประสบการณ์ตรงในการผลักดันเทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ พร้อมชวนผู้เข้าร่วมงานมองถึงทิศทางความร่วมมือและโอกาสใหม่ ๆ ที่ภาคนโยบายและภาคนวัตกรรม รวมถึงภาคอุดมศึกษาสามารถร่วมกันขับเคลื่อนเทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศไปข้างหน้า