messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. – ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค ร่วมเป็นวิทยากรอบรมเครื่องมืออนาคตศึกษา เสริมศักยภาพระบบข่าวรับมือภัยคุกคามในอนาคต

กระทรวง อว. โดย สอวช. – ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค ร่วมเป็นวิทยากรอบรมเครื่องมืออนาคตศึกษา เสริมศักยภาพระบบข่าวรับมือภัยคุกคามในอนาคต

วันที่เผยแพร่ 22 พฤษภาคม 2025 15 Views

(21 พฤษภาคม 2568) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight – APEC CTF) ได้รับเชิญจากศูนย์อนาคตศึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ เข้าร่วมเป็นวิทยากรในโครงการฝึกอบรมเพื่อประยุกต์ใช้เครื่องมืออนาคตศึกษา หัวข้อ “การพัฒนาระบบข่าวเพื่อรับมือภัยคุกคามในอนาคต” ณ ห้องประชุมภักดี โรงแรม Abloom Exclusive Serviced Apartment พหลโยธิน ซอย 3 กรุงเทพมหานคร

การอบรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรของหน่วยงานด้านข่าวกรองให้สามารถนำเครื่องมืออนาคตศึกษา (Foresight Tools) ไปใช้ในการวิเคราะห์สัญญาณอนาคต (Emerging Signals) ปัจจัยขับเคลื่อน (Drivers) และการจัดทำฉากทัศน์ (Scenarios) ซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิภาพการคาดการณ์และการวางแผนรับมือภัยคุกคามได้อย่างแม่นยำและทันต่อการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนและไม่แน่นอนในปัจจุบัน

การฝึกอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือด้านอนาคตศึกษาและการประยุกต์ใช้ในงานข่าวกรอง พร้อมทั้งพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์และคาดการณ์อนาคต อาทิ การจัดทำยุทธศาสตร์รองรับการคาดการณ์ การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Analysis) การจัดทำแผนที่เชื่อมโยงภาพรวมของปัจจัยอนาคต (Systems Mapping) ตลอดจนการออกแบบแนวทางเชิงกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการเตรียมความพร้อมต่อภัยคุกคามในทุกรูปแบบ โดยมีวิทยากรจาก สอวช. – ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค นำโดย ดร.คมเมธ จิตวานิชไพบูลย์ Deputy Director ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค และคณะ ซึ่งได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ผ่านเครื่องมือ Future Radar และ Foresight Canvas ในการระดมความคิดเห็นและวิเคราะห์อนาคตผ่าน 4 กลุ่มฉากทัศน์หลัก ได้แก่ กลุ่มที่ 1: ภัยพิบัติและวิกฤตฉุกเฉิน กลุ่มที่ 2: ความรุนแรงในชายแดนภาคใต้ กลุ่มที่ 3: การโจมตีทางไซเบอร์ และกลุ่มที่ 4: สมรภูมิที่ห้า

บรรยากาศการอบรมเป็นไปอย่างเข้มข้นและได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ สถาบันป้องกันประเทศ ซึ่งได้แสดงความตั้งใจที่จะนำเครื่องมืออนาคตศึกษาไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการวิเคราะห์ข่าวและวางแผนเชิงกลยุทธ์ต่อไป

โครงการฝึกอบรมครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการบูรณาการองค์ความรู้ด้านอนาคตศึกษาสู่ภารกิจด้านความมั่นคงของประเทศ เพื่อเสริมสร้างความพร้อมรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21 อย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่องล่าสุด