messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. เข้าร่วมเวทีประชุม BNCT เป็นครั้งแรก เตรียมความพร้อมประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD

กระทรวง อว. โดย สอวช. เข้าร่วมเวทีประชุม BNCT เป็นครั้งแรก เตรียมความพร้อมประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD

วันที่เผยแพร่ 21 พฤษภาคม 2025 20 Views

ดร.นุวงศ์ ชลคุป ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) และนายปรินันท์ วรรณสว่าง ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ สอวช. เข้าร่วมการประชุมสมัยที่ 21 ของคณะทำงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี และเทคโนโลยีแบบผสมผสาน (Working Party on Biotechnology, Nanotechnology, and Converging Technologies – BNCT) ภายใต้คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Committee for Scientific and Technological Policy – CSTP) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) เมื่อวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2568 ณ สำนักงานใหญ่ OECD ในกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

ที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและพัฒนาการใหม่ ๆ เกี่ยวกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี BNCT ในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย ดร.นุวงศ์ ได้รายงานต่อที่ประชุมถึงความคืบหน้าเรื่องการพัฒนาแผนที่นำทางเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) ซึ่งได้มีการก่อตั้ง SynBio Consortium ที่ได้มีการจัดประชุมวิชาการมาอย่างต่อเนื่องและได้ยกระดับขึ้นเป็นการประชุมนานาชาติในปีที่ 4 ที่ผ่านมา รวมถึงเรื่องการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีระยะ 5 ปี (Nanotechnology R&D Roadmap 2026-2030) และเรื่องยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565 – 2570

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับหน่วยงานและกิจกรรมด้านการประเมินเทคโนโลยี (Technology Assessment) หรือการคาดการณ์อนาคต (Foresight) ในแต่ละประเทศ ดร. นุวงศ์ ได้แนะนำที่ประชุมถึงบทบาทของศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight) ภายใต้ สอวช. ว่าเป็นหน่วยงานสำคัญที่ทำงานวิชาการ ให้คำปรึกษา และจัดการฝึกอบรม เกี่ยวกับการคาดการณ์อนาคตในไทยและเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งที่ผ่านมาได้มีบทบาทในการประเมินความต้องการเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environmental Facility: GEF) ซึ่งปัจจุบันศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปคได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรอบความร่วมมือด้านนโยบายด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของเอเปค (APEC’s Policy Partnership for Science, Technology and Innovation: PPSTI) เพื่อดำเนินงาน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการวิเคราะห์และคาดการณ์โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (EIDs) ในภูมิภาคเอเปค และโครงการระบุสัญญาณอุบัติใหม่ที่มีผลกระทบต่อความเป็นกลางทางคาร์บอนในภูมิภาคเอเปคโดยใช้วิธีคาดการณ์อนาคต

ที่ประชุมยังได้อภิปรายถึงพัฒนาการในเรื่องอื่น ๆ ที่อยู่ในความสนใจของ BNCT ได้แก่ 1) กรอบการบริหารเชิงคาดการณ์เทคโนโลยีอุบัติใหม่ (Framework of anticipatory governance of emerging technologies) ซึ่งอาศัยกระบวนการคาดการณ์และพยากรณ์เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น 2) พัฒนาการของเทคโนโลยีประสาท (neurotechnology) ที่ถูกเร่งรัดด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้มีประเด็นที่ต้องคำนึงในด้านสิทธิมนุษยชนและด้านจริยธรรม โดยเฉพาะเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลสมอง (brain data privacy) นอกเหนือจากประโยชน์ในทางการแพทย์ 3) การปฏิบัติตามข้อแนะนำของคณะมนตรี OECD ว่าด้วยการประกันคุณภาพในการทดสอบทางพันธุกรรมระดับโมเลกุล 4) ข่าวกรองเชิงยุทธศาสตร์และการประเมินเทคโนโลยีแบบมองไปข้างหน้าโดยมีกรณีศึกษาเป็นการบรรจบกันของเทคโนโลยี AI, Automation และ Robotics กับชีววิทยาสังเคราะห์ เทคโนโลยีชีวภาพกับเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งมีการนำเสนอเหตุผลและกระบวนการพัฒนาข้อแนะนำ OECD ว่าด้วยนวัตกรรมชีววิทยาสังเคราะห์ที่มีความรับผิดชอบ (OECD Recommendation on responsible innovation in synthetic biology) 5) แผนงานในอนาคตเกี่ยวกับเทคโนโลยีควอนตัม 6) รายงานการศึกษาเรื่อง “การบรรจบกันของเทคโนโลยี: แนวโน้ม โอกาส และนโยบาย” 7) ความมั่นคงด้านการวิจัยและเทคโนโลยีในระเบียบระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไป และ 8) รายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการตามระเบียบวาระนโยบาย วทน. เพื่อการเปลี่ยนแปลง

นับตั้งแต่ปี 2559 ประเทศไทยได้ร่วมงานกับ CSTP ในฐานะประเทศผู้มีส่วนร่วมที่ไม่ได้เป็นสมาชิก OECD โดยมีผู้แทน สอวช. เข้าร่วมการประชุม ร่วมดำเนินโครงการและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมของทั้ง OECD และประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน ไทยมีสถานะเป็นประเทศผู้สมัครที่อยู่ในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยจะต้องดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการต่าง ๆ ของ OECD อย่างใกล้ชิด (รวมถึง CSTP) ทั้งในการปรับปรุงมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD เพื่อบรรลุการเข้าเป็นสมาชิกในอนาคต โดยเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยสำเร็จได้ คือการแสดงออกถึงความมุ่งมั่น และความสามารถของประเทศไทยในการปฏิบัติตามตราสารทางกฎหมายของ OECD รวมทั้งการที่ประเทศไทยมีนโยบายและแนวปฏิบัติสอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD ในเรื่องนั้น ๆ  ในกรณีของ CSTP มีตราสารทางกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับ BNCT นั้น สอวช. จึงเห็นว่าการเข้าร่วมการประชุม BNCT จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเทศสมาชิก OECD และประเทศผู้สมัครที่อยู่ในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม

การเข้าร่วมการประชุมของคณะผู้แทน สอวช. ในนามประเทศไทยนับว่าบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความรู้ อีกทั้งได้สานสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้แทนประเทศสมาชิกและผู้เชี่ยวชาญของ OECD ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทยต่อไป

Tags: #BNCT #OECD

เรื่องล่าสุด