messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. เข้าร่วมงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “ESG Xchange 2025: ESG for Climate Actions International Summit” และศึกษาดูงานมหาวิทยาลัยที่มีแนวคิดด้านความยั่งยืน ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

กระทรวง อว. โดย สอวช. เข้าร่วมงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “ESG Xchange 2025: ESG for Climate Actions International Summit” และศึกษาดูงานมหาวิทยาลัยที่มีแนวคิดด้านความยั่งยืน ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

วันที่เผยแพร่ 19 พฤษภาคม 2025 53 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน และนางสาวชวิสรา เวียงชัย เจ้าหน้าที่สนับสนุน เป็นผู้แทน เข้าร่วมเสวนางานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “ESG Xchange 2025: ESG for Climate Actions International Summit” จัดโดย World Green Organization (WGO) ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการฮ่องกง (HKCEC) เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับคณะผู้จัดและผู้แทนไทยได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รัชด ชมภูนิช รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ. ดร.จรสวรรณ โกยวานิช รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร.ศักดา กตเวทวารักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และภายในงานมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาระดับนานาชาติอาทิ United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (UNESCAP) UN Micronesia และ Global Reporting Initiative (GRI)

งานนี้มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดด้านมาตรฐาน ESG (Environment, Social, and Governance) ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Campus) และความยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวข้อที่สำคัญสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบัน

ภายในงาน ดร.ศรวณีย์ ได้เข้าร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ “Carbon Neutrality in Southeast Asian Campuses” ร่วมกับ Professor Xu Tian ผู้แทนจาก Shanghai Jiao Tong University และ ศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร.เอกชัย มหาเอก ผู้แทนจาก Sustainable University Network (SUN Thailand) โดยมี ดร.จักรพล พันธุวงศ์ภักดี จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยได้นำเสนอการทำงานของ สอวช. ที่มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม Net Zero Campus เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยทั้ง 172 มหาวิทยาลัยให้เป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ โดยได้ร่วมกับ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพราะมหาวิทยาลัยมีทรัพยากรที่สำคัญหลายอย่างที่มีศักยภาพสนับสนุนเป้าหมายนี้ ทั้งมิติเชิงพื้นที่ และรายสาขา (Sector Base) อย่างไรก็ตามต้องมีการปรับเชิงระบบสร้างแรงจูงใจในการเข้าร่วมดำเนินการและสนับสนุนการทำงานของมหาวิทยาลัย อาทิ งบประมาณสนับสนุนที่ต่อเนื่องและระยะยาวสำหรับดำเนินการ ตัวชี้วัดของมหาวิทยาลัยที่เชื่อมต่อกับระบบงบประมาณ การจัดลำดับมหาวิทยาลัยตัวชี้วัดสากล และการสนับสนุนทางวิชาการของอาจารย์และนักวิจัย เป็นต้น เพราะการทำให้บรรลุเป้าหมายของประเทศได้ต้องมีการปรับเชิงระบบให้มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่สอดรับการทำงาน แพลตฟอร์ม Net Zero Campus จึงไม่ใช่เป็นเพียงโครงการ (Project Base) แต่จะนำไปสู่การปรับเชิงระบบให้สอดรับกับแนวโน้มอนาคตของโลก

นอกจากนี้ ได้มีการเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานที่ Hong Kong University of Science and Technology (HKUST) มหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาแคมปัสที่ยั่งยืน โดยใช้นวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation) สนับสนุน และได้มีการใช้ “Sustainable Smart Campus as a Living Lab” เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการเป็น Net Zero Campus และเข้าเยี่ยมชม Chinese University of Hong Kong (CUHK) นำเสนอนวัตกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและยั่งยืน โดยเน้นการประยุกต์ใช้นวัตกรรมในหลากหลายมิติ เช่น การติดตั้งสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV charging stations) ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การพัฒนาอาคารสีเขียว (Green Buildings) และการลดของเสียภายในมหาวิทยาลัย (Waste Reduction) ทำให้เห็นศักยภาพของมหาวิทยาลัยที่ต่อยอดการใช้นวัตกรรมสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทั้งพัฒนาทรัพยากรบุคคล และระบบนิเวศต่างๆ จากการทดลองใช้ภายในมหาวิทยาลัยก่อนนำไปสู่การขยายผลในระดับจัดจำหน่ายต่อไป (Commercial Scale)

เรื่องล่าสุด