กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน สอวช. พร้อมด้วย ดร.ชนิดา แสนสะอาด ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย และ ดร.นัทธมน สุวรรณพรหม นักพัฒนานโยบาย เข้าร่วมนำเสนอความก้าวหน้าและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการดำเนินงานโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Campus) ในการประชุมสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN Thailand) สัญจร ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 ในวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2568 ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง โดยการเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ได้ส่งเสริมการขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายการสร้างพันธมิตรและเครือข่ายการวิจัยในโครงการ Net Zero Campus ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สอวช. และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา เลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดประชุมถึง ความสำคัญของการดำเนินงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทยและการสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติ เพื่อให้เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2065

ในการประชุมนี้ ดร.ศรวณีย์ กล่าวถึง ความสำคัญของการดำเนินงานโครงการ Net Zero Campus ในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยเน้นย้ำว่ามหาวิทยาลัยมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งกำเนิดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ของการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Pathway) อย่างไรก็ตามต้องมีการจัดทำระบบบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ (Greenhouse Gas Accounting) และยอมรับได้ตามมาตรฐานสากลที่จะผนวกกับเป้าหมายการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่เป็นภาพใหญ่ แต่ก็ต้องมีการสร้างระบบแรงจูงใจอาทิ ระบบงบประมาณ ตัวชี้วัด ที่จะมาสนับสนุนให้เกิดการทำงานแบบนี้ของมหาวิทยาลัยในระดับนโยบายและระบบ ซึ่งสามารถใช้ระบบนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation System: NIS) เข้ามาช่วยสนับสนุนการเข้าถึงกลไกการเงินระหว่างประเทศได้เช่นกัน

ในช่วงการนำเสนอวาระ รศ.ดร.สิริชัย คุณภาพดีเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึง ภาพรวมของโครงการและความก้าวหน้าการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการ Net Zero Campus ระยะที่ 1 มหาวิทยาลัยที่มีการลงทะเบียนใช้งานแพลตฟอร์มที่พัฒนา จำนวน 67 สถาบัน ซึ่งกรอกข้อมูลแล้วเสร็จจำนวน 17 สถาบัน โดยการรายงานข้อมูลการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกผ่านแพลตฟอร์มนี้จะใช้เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการวางแผนเชิงนโยบายต่อไป นอกจากนี้ ได้นำเสนอแผนการดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 2 เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและพร้อมรับฟังข้อแสนอแนะและประเด็นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องจากผู้บริหารเครือข่าย Sun Thailand อันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานต่อไป

ขอบคุณภาพจาก มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง