สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดการประชุมร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศศรีลังกา (Ministry of Science and Technology: MoST) ในรูปแบบ Virtual Meeting เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการระบบข้อมูลเพื่อการวิจัยและนวัตกรรม (Research and Innovation Data Management Systems) เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568

โดยมี ดร.กรัณฑรัตน์ นาขวา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม พร้อมด้วยผู้แทนจากฝั่งศรีลังกา ได้แก่ อธิบดีฝ่ายวางแผน ผู้อำนวยการฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผน และผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยจากสำนักงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Office of the Ministry of Science and Technology) รวมถึง CEO ของสภาวิจัยแห่งชาติของศรีลังกา (National Research Council of Sri Lanka) นอกจากนี้ ยังมี Mr. Patrick Dias จาก CSIRO ออสเตรเลีย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของศรีลังกาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยประเด็นสำคัญของการประชุมมุ่งเน้นไปที่
- ประเภทของระบบข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่ใช้งานในประเทศไทย
- การบูรณาการแพลตฟอร์มสำหรับติดตามผลทุนวิจัย ผลงาน การนำไปใช้ประโยชน์เชิงพานิชย์ และโปรไฟล์นักวิจัย
- ความท้าทายในการพัฒนาและใช้งานระบบ รวมถึงประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการบำรุงรักษาระบบ
- การเชื่อมโยงระบบข้อมูลเพื่อให้เกิดความสะดวกและมีประสิทธิภาพในการใช้งาน
ฝ่าย สอวช. มี ดร.นัทธรัตน์ มงคลสินธุ์ นักพัฒนานโยบาย เป็นผู้ดำเนินการประชุม และมี ดร.ชนิกา ไหล่แท้ และ ดร.ภัทรวรรณ จารุมิลินท จากฝ่ายบริหารจัดการของภาครัฐด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ได้ร่วมกันนำเสนอภาพรวมโครงสร้างและระบบ อววน. ของประเทศไทย แผน ววน. แห่งชาติ และระบบการติดตามและประเมินผล (M&E) ด้าน ววน. และนายนนทวัฒน์ มะกรูดอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายเชื่อมโยงข้อมูลนโยบาย ได้บรรยายถึงระบบการจัดเก็บข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน

หลังจากนั้น ฝ่ายศรีลังกาได้นำเสนอโครงสร้างระบบของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (MoST) ซึ่งจัดตั้งขึ้นแยกจากกระทรวงอุดมศึกษาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 โดยดูแลสถาบันด้านวิจัยและนวัตกรรม 12 แห่ง มีภารกิจครอบคลุมตั้งแต่การกำหนดนโยบาย การให้ทุนวิจัย การส่งเสริมการพาณิชย์ผลงานวิจัย มาตรฐานผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผู้ประกอบการ ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และนำเสนอเกี่ยวกับแนวคิดเบื้องต้นของการพัฒนาระบบข้อมูลระดับชาติสำหรับการบริหารจัดการด้านวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบในรูปแบบระบบศูนย์กลาง (Centralized MIS) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลหลากหลายประเภทด้าน ววน.
ฝ่ายศรีลังกาให้ความสนใจอย่างยิ่งต่อประสบการณ์ของไทย และตั้งเป้านำข้อมูลจากการประชุมครั้งนี้ไปใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายและประเมินความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบข้อมูล ววน. ของศรีลังกาในอนาคต ในช่วงท้าย ผู้แทนจากทั้งสองประเทศได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการวางแผนเชิงนโยบายและระบบข้อมูล การประชุมครั้งนี้จึงไม่เพียงเป็นเวทีถ่ายทอดองค์ความรู้จากประสบการณ์ของไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นก้าวแรกในการสร้างความสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้และความร่วมมือในระยะยาวระหว่างทั้งสองประเทศ