messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมการประชุมและกล่าวถ้อยแถลง ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 126 แลกเปลี่ยนแนวทางพัฒนานโยบาย สร้างระบบนิเวศนวัตกรรม

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมการประชุมและกล่าวถ้อยแถลง ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 126 แลกเปลี่ยนแนวทางพัฒนานโยบาย สร้างระบบนิเวศนวัตกรรม

วันที่เผยแพร่ 7 พฤษภาคม 2025 36 Views

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 126 (The 126th Session of the Committee for Scientific and Technological Policy – CSTP) จัดโดย องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส และผ่านระบบออนไลน์

ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. ทำหน้าที่ผู้แทนประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 126 (The 126th Session of the Committee for Scientific and Technological Policy – CSTP) โดยมี ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ นางสาววิภาพร อัศวพิศิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายอาวุโส และนายปรินันท์ วรรณสว่าง ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สอวช. เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งแบ่งการประชุมเป็น 2 ช่วง คือ การประชุมฯ ผ่านระบบออนไลน์ในวันที่ 2 เมษายน 2568 และการประชุมฯ ณ ศูนย์ประชุมสำนักงานใหญ่ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 23 – 25 เมษายน 2568

ดร.ปราณปรียา กล่าวให้ความเห็นในการประชุมฯ ผ่านระบบออนไลน์ในวาระเรื่องนโยบายด้านนวัตกรรม โดยแสดงความยินดีที่ผู้แทนประเทศสิงคโปร์เข้าร่วมนำเสนอยุทธศาสตร์ด้าน Research, Innovation and Enterprise (RIE) ของสิงคโปร์ในการประชุมฯ และเน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสิงคโปร์ทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคีภายใต้กรอบอาเซียน รวมถึงคาดหวังผลลัพธ์ของกรอบการประเมินความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของ OECD (Transformative-readiness assessment framework) ซึ่งประเทศไทยได้เป็นประเทศแรกในการนำร่อง โดยเชื่อว่าจะนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อไป

นอกจากนี้ ในวาระเรื่อง European Commission – OECD Science, Technology and Innovation Policies (STIP) Compass ดร.ปราณปรียา กล่าวถึงความพยายามในการเก็บรวบรวมข้อมูลของประเทศไทย โดยได้จัดการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการเก็บข้อมูล และเชิญหน่วยงานภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงานรวมทั้งทีม STIP Compass ของ OECD เพื่อให้คำแนะนำและแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของฐานข้อมูลดังกล่าว

สำหรับการประชุมฯ ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส มีการหารือรายละเอียด ร่าง OECD Science, Technology, and Innovation (STI) Outlook 2025 ในหลายวาระการประชุมฯ ซึ่ง ดร.สุรชัย ได้กล่าวถ้อยแถลง ในประเด็น Research and technology security โดยกล่าวว่า ประเด็นเรื่องความมั่นคงสำหรับนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากภายใต้สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศก็ยังคงเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบวาระปี ค.ศ. 2030 ซึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาระดับโลก เช่น วิกฤตสภาพภูมิอากาศและความยากจน พร้อมทั้งการเตรียมรับมือกับความเสี่ยงใหม่ ๆ ซึ่งประเทศไทยสนับสนุนข้อเสนอที่ว่ารัฐควรดำเนินนโยบายความมั่นคงด้าน วทน. อย่างมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบระยะยาว และเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาระบบพหุภาคี

นอกจากนี้ ดร.สุรชัย กล่าวสนับสนุนการจัดทำนโยบาย วทน. ที่คล่องแคล่วพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง (agility) การใช้ Strategic Intelligences โดยยกตัวอย่างการดำเนินงานของ สอวช. โครงการ AI Foresight Platform for Policy Design ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยเสริมสร้างความสามารถในการวางแผนเชิงกลยุทธ์ผ่านการใช้เครื่องมือการคาดการอนาคต (Foresight) ในภาครัฐ และกล่าวถึงการทดลองเชิงนโยบายและข้อริเริ่ม Sandbox ของไทย เช่น ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาจังหวัดต้นแบบ-สระบุรีเมืองคาร์บอนต่ำ (Saraburi Sandbox: A Low Carbon City) รวมถึงความท้าทายในการได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณสำหรับข้อริเริ่มใหม่ ๆ

สำหรับการเข้าร่วมการประชุมและกิจกรรมต่าง ๆ กับคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้ นอกจากเป็นการได้แลกเปลี่ยนแนวทางพัฒนานโยบายที่สร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้าน วทน. เพื่อแก้ไขปัญหาระดับโลกแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการดำเนินกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

เรื่องล่าสุด