messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. จัดประชุมเผยแพร่ผลการทดลองนำร่องกลไกส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมเพื่อขยายสู่ตลาดจีน สนับสนุนผู้ประกอบการไทยพัฒนาสินค้าตอบโจทย์ตลาดต่างประเทศ

กระทรวง อว. โดย สอวช. จัดประชุมเผยแพร่ผลการทดลองนำร่องกลไกส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมเพื่อขยายสู่ตลาดจีน สนับสนุนผู้ประกอบการไทยพัฒนาสินค้าตอบโจทย์ตลาดต่างประเทศ

วันที่เผยแพร่ 6 พฤษภาคม 2025 14 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ China Intelligence Center (CIC) วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการประชุมเผยแพร่ผลการทดลองนำร่องกลไกส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมเพื่อขยายสู่ตลาดจีน ภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรมภูมิภาค ด้วยกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 สอวช. ชั้น 14 อาคารจัตุรัสจามจุรี โดยมี นางสาวมนันยา ชุณหวุฒิยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายระบบนิเวศส่งเสริมศักยภาพนวัตกรรมของผู้ประกอบการ สอวช. กล่าวเปิดและกล่าววัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรม

นางสาวมนันยา กล่าวว่า สอวช. มีบทบาทและภารกิจในการออกแบบนโยบายที่นำเอาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เข้าขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศในทุก ๆ มิติ โดยหนึ่งในเรื่องที่ สอวช. ให้ความสำคัญและได้ตั้งเป้าไว้คือการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise: IDE) เพราะมองว่า IDE จะเป็นผู้เล่นสำคัญในการเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจนวัตกรรม และช่วยให้หลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้

ที่ผ่านมา สอวช. ได้ออกแบบนโยบาย พัฒนามาตรการ กลไกต่าง ๆ ในการช่วยเสริมระบบนิเวศให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นและเอื้อต่อการเติบโตของ IDE เช่น การส่งเสริมให้เกิดสปินออฟ สตาร์ทอัพ การออกนโยบาย University Holding Company การปลดล็อกข้อจำกัดเกี่ยวกับการนำเอาผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ผ่านการออกกฎหมาย TRIUP Act หรือ พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่ช่วยปลดล็อกสิทธิความเป็นเจ้าของผลงานวิจัย จากเดิมที่หน่วยงานให้ทุนเป็นเจ้าของสิทธิ แต่ในปัจจุบัน ผู้รับทุน ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน มหาวิทยาลัย หรือนักวิจัยที่เป็นผู้ผลิตคิดค้น สามารถเป็นเจ้าของสิทธิผลงานวิจัย และสามารถนำเอาผลงานไปใช้ประโยชน์ได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น รวมถึงการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. 2566 ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถนำผลงานวิจัยออกไปลงทุนร่วมกับภาคเอกชนได้

“จากผลการศึกษาของ สอวช. พบว่าประเด็นหลักที่เป็นข้อจำกัดและความท้าทายของผู้ประกอบการ คือการขยายสินค้าสู่ตลาด สอวช. จึงได้ทำข้อริเริ่มเชิงนโยบายขึ้นมา เรียกว่า E-Commercial and Innovation Platform (ECIP) เป็นแพลตฟอร์มกลางที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้านวัตกรรมออกสู่ตลาดได้จริง ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในกลไกที่อยู่ภายใต้ ECIP ที่ สอวช. ได้ทำงานร่วมกับศูนย์ CIC ในการศึกษาและออกแบบกลไกสนับสนุนผู้ประกอบการ และได้มีการทดลองนำร่องจริง ซึ่งหลังจากนี้ก็จะนำผลที่ได้มาหารือร่วมกันถึงการดำเนินงานในระยะถัดไป” นางสาวมนันยา กล่าว

ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ หัวหน้าศูนย์ CIC ได้นำเสนอผลการศึกษาการออกแบบและทดลองนำร่องกลไกส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมเพื่อขยายสู่ตลาดจีน โดยได้นำเสนอถึงขั้นตอนการส่งเสริม SMEs สู่ตลาดจีน ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกสินค้า เตรียมข้อมูลผลิตภัณฑ์ การนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่แพลตฟอร์มของจีน จนสามารถจำหน่ายผ่านหลากหลายช่องทางในประเทศจีนได้ โดยได้มีการศึกษาเพื่อสร้างกลไกนำร่อง จากการรวบรวม และสรุปกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุน CBEC (Cross-Border E-Commerce) หรือ ช่องทางการค้ารูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการนำเข้าและส่งออกสินค้าเพื่อจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์จากไทยไปจีน และได้มีการทดลองสร้างกลไกการพัฒนาสินค้าในไทยเข้าสู่ตลาดจีน โดยได้จัดกิจกรรมวิพากษ์ผลิตภัณฑ์เพื่อการพัฒนาสินค้า เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาด โดยหลังจากการวิพากษ์ฯ และคัดเลือกสินค้ามาได้แล้ว จะมีกิจกรรมนำเสนอสินค้าให้กับเครือข่ายในต่างประเทศ และทดลองเข้าสู่ตลาดปลายทาง

นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยความต้องการสินค้าไทยของผู้ซื้อตลาดปลายทาง โดยได้วิเคราะห์ความนิยมของสินค้ารายคลัสเตอร์ ในกลุ่มอาหารทานเล่น ข้าวและเครื่องปรุง เครื่องสำอาง สมุนไพร ยา สินค้าทางวัฒนธรรม รวมไปถึงอาหารไทยและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มีการวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดบนแพลตฟอร์มอาลีบาบา ผ่านการใช้ Data Analytic Software รวมถึงศึกษารูปแบบการขนส่งระหว่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ ที่ประชุม ยังได้ร่วมหารือแนวทางการพัฒนากลไกและทดลองนำร่องในระยะถัดไป โดยเห็นควรให้กลไกนี้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลและองค์ความรู้จากกิจกรรมอย่างเป็นระบบ และกระจายองค์ความรู้ดังกล่าวให้ผู้ประกอบการเข้าถึงได้กว้างขวาง เพื่อขยายตลาดสู่ประเทศจีน อีกทั้งที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย

เรื่องล่าสุด