messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ผนึกหน่วยงานหลัก เดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับ ด้านนวัตกรรม ในพื้นที่ EEC เน้นสร้างรากฐานครบทุกมิติ

กระทรวง อว. โดย สอวช. ผนึกหน่วยงานหลัก เดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับ ด้านนวัตกรรม ในพื้นที่ EEC เน้นสร้างรากฐานครบทุกมิติ

วันที่เผยแพร่ 1 พฤษภาคม 2025 315 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ หน่วยวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินและระบบอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดประชุมผู้ทรงคุณวุฒิ “โครงการศึกษากลไก อววน. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับ (UAS Ecosystem) ด้านนวัตกรรม ในพื้นที่ EEC” เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และออกแบบกลไกเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศและอุตสาหกรรม UAS ในพื้นที่ EEC ผ่านการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรม ‘UAS Sandbox’ อย่างเป็นรูปธรรมและปลอดภัย เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ

การประชุมดังกล่าวมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมอากาศยานไร้คนขับแห่งประเทศไทย และบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ ได้แก่ บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด และ บริษัท เดลว์ แอโรสเปซ จำกัด

รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการ สอวช. ในฐานะประธานผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า โครงการนี้ริเริ่มโดยบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เสนอแนวทางพัฒนาระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับ (UAS) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ 1) การจัดการระบบอากาศยานไร้คนขับ (UTM) 2) การฝึกอบรมนักบิน (ATO) 3) การให้บริการอากาศยานไร้คนขับ (UAS Service) 4) การผลิต ซ่อมบำรุง และตรวจสอบมาตรฐาน (MRO) และ 5) ด้านนวัตกรรม การทดสอบ และศูนย์บ่มเพาะนวัตกร (UAS Centre) โดย บวท. คาดว่า ภายใน 5 ปี จะมีโดรนหลายแสนลำใช้งานในไทย โดยกว่า 80% จะอยู่ในพื้นที่ EEC ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินใหม่ (New S-Curve) ภายใต้แนวคิด “เมืองการบิน” (Aerotropolis) ที่เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ครบวงจร

สำหรับ สอวช. ได้ขานรับแผนงานด้านที่ 5 โดยดำเนินโครงการ “ศึกษากลไก อววน. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับด้านนวัตกรรมในพื้นที่ EEC” ร่วมกับหน่วยวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับและระบบอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ

  1. ศึกษาและวิเคราะห์กลไกของ อววน. ที่เหมาะสมสำหรับส่งเสริมระบบนิเวศ UAS ด้านนวัตกรรมใน EEC
  2. ศึกษาแนวทางจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรม “UAS Sandbox”
  3. จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและออกแบบกลไกเชิงระบบ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและระบบนิเวศ UAS อย่างเป็นรูปธรรม

รศ.วงกต ยังกล่าวว่า อุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หากสามารถขยายการใช้งานได้อย่างกว้างขวาง จะมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น การประชุมในวันนี้จึงจัดขึ้นเพื่อเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อร่วมออกแบบนโยบายและกลไกที่เหมาะสม ผลักดันระบบนิเวศ UAS ของประเทศไทย โดยเน้นการกำหนดประเด็นเร่งด่วน มอบหมายหน่วยงานเจ้าภาพ และจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินงานในลำดับถัดไป

ผศ.ดร.สุรเดช ตัญตรัยรัตน์ หัวหน้าโครงการ ได้นำเสนอภาพรวมการดำเนินงาน ซึ่งได้ดำเนินมาแล้วเป็นระยะเวลา 7–8 เดือน โดยได้จัดการประชุมในครั้งนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อนำข้อเสนอแนะไปใช้ในการปรับปรุงร่างข้อเสนอเชิงนโยบายให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

การดำเนินโครงการที่ผ่านมา ได้มีการรวบรวมและศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องในหลายมิติ ประกอบด้วย แนวโน้มตลาดอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ, นโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม UAV สถานภาพปัจจุบันของประเทศไทย การศึกษาพื้นที่เขต EEC

นอกจากนี้ ทีมวิจัยได้ดำเนินการสัมภาษณ์เชิงลึกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 11 แห่ง ทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ในหลากหลายมิติ ได้แก่ การวิเคราะห์ช่องว่าง (Gap Analysis), การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกเชิงมหภาค (PESTEL Analysis), การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT/TOWS Analysis) ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวนำไปสู่การจัดทำร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรม UAV ของประเทศไทยในระยะต่อไป

นายกษิศพัชฒ์ อินทุยศ หัวหน้ากองพัฒนามาตรฐานและเทคโนโลยีระบบอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) กล่าวว่า สำนักงานฯ พัฒนาระบบ UAS Portal ศูนย์กลางสำหรับการลงทะเบียน การขออนุญาต และการติดตามการปฏิบัติการของโดรน พร้อมจัดทำ Thailand Drone Master Plan ครอบคลุม 4 ด้าน คือ บุคลากร, อากาศยานไร้คนขับ, การปฏิบัติการ และความปลอดภัย นอกจากนี้ ไทยยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ Unmanned Traffic Management (UTM) ตามมาตรฐาน U-Space Framework ของยุโรป ซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับ 2 พร้อมปูทางสู่การบริหารการบินโดรนอัตโนมัติเต็มรูปแบบในอนาคต สำนักงานฯ ยังรับรองโรงเรียนฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานโดรน และมีแนวโน้มรับรองศูนย์บริการซ่อมบำรุง (MRO) เพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลอากาศยานไร้คนขับในประเทศ รวมถึงเสนอการศึกษาเปรียบเทียบโมเดลพัฒนาโดรนจากต่างประเทศ เช่น เมืองเซินเจิ้นและกวางโจว

นายอดุลย์ วิเศษบุปผา ผู้อำนวยการส่วน กสทช. กล่าวว่า กสทช. ได้ผลักดันการพัฒนา เครือข่าย Cellular เพื่อรองรับการบินโดรนแบบ นอกระยะสายตา (BVLOS และ EVLOS) พร้อมส่งเสริมการอบรมบุคลากรเกี่ยวกับการใช้คลื่นความถี่เพื่อเสริมความปลอดภัยในการบิน

ว่าที่เรืออากาศตรี สกล สมานปิยะพจน์ ผู้อำนวยการกองกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ เน้นการใช้ AI และ Data Analytics เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการจราจรทางอากาศสำหรับโดรน พร้อมพัฒนา Satellite Communication เพื่อการสื่อสารครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ยังพัฒนา Drone Ecosystem ครบวงจร และดำเนินโครงการ Next Generation of Aviation Professionals (NGAP) เพื่อเตรียมบุคลากรรุ่นใหม่ให้พร้อมรับมือกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเน้นการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยในการบินอย่างเข้มข้น

นายทรงวุฒิ อภิรักษ์ขิต ผู้อำนวยการสำนักบริการผู้ลงทุน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า EEC ส่งเสริมการพัฒนาทักษะบุคลากร โดยร่วมจ่ายงบประมาณสนับสนุนสูงสุด 50% พร้อมมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ผู้ประกอบการลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 2.5 เท่า นอกจากนี้ยังเปิดพื้นที่ Sandbox ให้ผู้ประกอบการทดสอบเทคโนโลยีใหม่ โดยเน้นการออกแบบแผนธุรกิจอย่างเป็นระบบ และมุ่งเน้นการวิเคราะห์ทักษะที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับในอนาคต

ดร.ชโลธร บุญเหลือ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายพัฒนาคลัสเตอร์ยุทธศาสตร์ นำเสนอถึงกลไกการสนับสนุนภายใต้ระบบ อววน. ของกระทรวง อว. ดังนี้

  • ด้านการอุดมศึกษา (อ.) มุ่งพัฒนากำลังคนในระบบการศึกษา แม้ยังไม่มีหลักสูตรเฉพาะด้าน UAV โดยตรง แต่ได้เสริมสร้างบุคลากรในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้องกับ UAS พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาทักษะเพิ่มเติม (Reskill, Upskill) ผ่านหลักสูตรอบรมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังสนับสนุนการสร้างบุคลากรทักษะสูงผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เช่น โครงการ NGAP ร่วมกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.)
  • ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในทุกมิติ ตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วน การทดสอบและรับรองมาตรฐาน การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตโดรนในประเทศ ไปจนถึงการบริหารจัดการห้วงอากาศและพัฒนาระบบดิจิทัลสนับสนุน UAS ผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
  • ด้านการประยุกต์ใช้งาน UAV มีหลายหน่วยงานร่วมสนับสนุนการนำ UAV ไปประยุกต์ใช้ เช่น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่บริหารจัดการทุนในสาขาที่เกี่ยวข้อง
  • การเชื่อมโยงเครือข่ายภายในกระทรวง อว. กลไก อววน. มีบทบาทในการบูรณาการการทำงานระหว่างสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย และหน่วยสนับสนุนทุน เพื่อพัฒนากำลังคน วิจัย และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี UAV อย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และตอบสนองต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม UAV ของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.รัศมิทัต แผนสมบูรณ์ นักวิจัยศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช. ชี้ว่าควรเสริมสร้างทักษะบุคลากรด้าน หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับในระยะยาว พร้อมเสนอแยกการพิจารณา โดรนกลางแจ้ง และ โดรนในอาคาร เพื่อการส่งเสริมและควบคุมที่เหมาะสม

ดร.จารุวัฒน์ ราชเรืองระบิน หัวหน้างานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลอาวุโส Depa กล่าวว่า Depa มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) โดยสนับสนุนการลงทุนตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และเดินหน้าโครงการ Digital Skill Roadmap และ DSure เพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลของคนไทยรองรับเศรษฐกิจอนาคต

ดร.สุวัฒน์ ศรีเศวต วิศวกรชำนาญการ GISTDA กล่าวว่า GISTDA สนับสนุนการจัดตั้ง Sandbox เพื่อทดลองเทคโนโลยีอวกาศและโดรนภายใต้สภาพแวดล้อมควบคุม และเสนอให้หน่วยงานกำกับดูแลมีบทบาทสำคัญในการกำหนด โจทย์วิจัย (Research Agenda Setting) เพื่อให้การพัฒนาตรงตามยุทธศาสตร์ชาติ

นางสาวโอมิกา บุญกัน ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สคช. กล่าวว่า สถาบันฯ เน้นการกำหนด เป้าหมายหลัก และ หมุดหมายการพัฒนา อย่างชัดเจน พร้อมผลักดันความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมและการศึกษาในการสร้างมาตรฐานวิชาชีพและการพัฒนาทักษะกำลังคนให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

ดร.นวทัศน์ ก้องสมุทร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสนอให้การพัฒนาโครงการเกี่ยวกับโดรนมีการกำหนด Milestone และ ผลสัมฤทธิ์รายระยะ อย่างชัดเจน เพื่อสร้างการประสานงานที่มีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นาวาอากาศเอก ศ.ดร.ปราสาทพร วงศ์คำช้าง เลขาธิการสมาคมอากาศยานไร้คนขับแห่งประเทศไทย ชี้ว่าจุดแข็งของไทยอยู่ที่ ธุรกิจบริการโดรน (Drone Services) และเสนอให้กำหนด Current Stage, Final Stage และ Line of Effort ชัดเจนในการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมถึงพัฒนาพื้นที่ Sandbox อย่างมีประสิทธิภาพ

รศ.ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ รองประธานฝ่ายวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ กล่าวว่า บริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีแกนหลักของอากาศยานไร้คนขับ ได้แก่ Payload, Flight Control และ Communication โดยชี้ว่าประเทศไทยยังขาดบุคลากรเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการต่อยอดนวัตกรรมในประเทศดร.วสันชัย วงศ์สันติวนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดลว์ แอโรสเปซ กล่าวว่าบริษัทได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาระบบติดตามโดรน (Drone Tracking) ด้วยเทคโนโลยี Track ID และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีในการพัฒนามาตรฐานการสื่อสาร เพื่อยกระดับความปลอดภัยและรองรับการเติบโตของระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับในประเทศ

ดร.วสันชัย วงศ์สันติวนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดลว์ แอโรสเปซ กล่าวว่าบริษัทได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาระบบติดตามโดรน (Drone Tracking) ด้วยเทคโนโลยี Track ID และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีในการพัฒนามาตรฐานการสื่อสาร เพื่อยกระดับความปลอดภัยและรองรับการเติบโตของระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับในประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการประกันภัยสำหรับอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) โดยเห็นควรให้มีแนวทางการคุ้มครองที่ครอบคลุมบุคคลที่สาม ทรัพย์สิน และการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งจัดทำมาตรฐานการรับรองสำหรับอุปกรณ์ ผู้ปฏิบัติงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการใช้งาน อีกทั้งได้เสนอให้มีการจัดทำภาพรวมระบบนิเวศด้านโดรนอย่างชัดเจน โดยกำหนดบทบาทและหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกัน และขับเคลื่อนระบบนิเวศให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมีทิศทาง

การประชุมครั้งนี้ได้สรุปแนวทางการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ โดยเน้นความสำคัญขององค์ประกอบหลัก 5 ด้าน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี มาตรฐาน ความปลอดภัย และการพัฒนากำลังคน ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศของอากาศยานไร้คนขับ และเสนอให้มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน พร้อม Milestone และแนวทางการดำเนินงาน (Line of Effort) ที่สามารถติดตามและประเมินผลได้ เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอนาคต

เรื่องล่าสุด