(30 เมษายน 2568) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (กอวช.) ครั้งที่ 3/2568 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. และผ่านระบบออนไลน์



ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้นำเสนอวาระเพื่อเสวนาในประเด็น “แผนที่นำทางการพัฒนาชีววิทยาสังเคราะห์และวิศวกรรมชีวภาพของประเทศไทย” โดยเน้นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology หรือ SynBio) ซึ่งเป็นศาสตร์สหสาขาระหว่างชีววิทยาและวิศวกรรมศาสตร์ ที่สามารถออกแบบระบบชีวภาพใหม่ให้ตอบโจทย์เฉพาะด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมที่หลากหลาย เช่น ยาชีวภาพ พลังงานสะอาด วัสดุใหม่ และโปรตีนทางเลือก ที่อาจสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างกว้างขวางต่อมนุษยชาติ โดย สอวช. ได้เริ่มขับเคลื่อนประเด็นนี้ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2567 และได้มีการจัดประชุม SynBio Consortium มาอย่างต่อเนื่อง ได้รับความสนใจอย่างมากจากภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความสำคัญระดับโลกของเทคโนโลยีนี้

ดร.กันตพิชญ์ ปรีดากรณ์ นักพัฒนานโยบาย ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจนวัตกรรม สอวช. กล่าวว่า เทคโนโลยี SynBio มีศักยภาพและโอกาสทางการตลาดสูง ในการนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ในหลายภาคส่วน เช่น ภาคเกษตร: การใช้จุลินทรีย์ ปรับปรุงพันธุ์พืช และปุ๋ยชีวภาพ ภาคอาหาร: การพัฒนาน้ำตาลจากพืชที่ให้รสหวานแต่ลดผลกระทบต่อสุขภาพ ภาคพลังงาน: การผลิตเอทานอลและเชื้อเพลิงชีวภาพจากวัตถุดิบทางการเกษตร อุตสาหกรรมการแพทย์และเภสัชภัณฑ์: การเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งการพัฒนาระบบเหล่านี้จะลดการนำเข้าและส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมชีวภาพไทยอย่างยั่งยืน

ดร.กันตพิชญ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีฐานด้านชีวภาพที่เข้มแข็ง แต่ยังเชื่อมไม่ถึงเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) และยังขาดการจดสิทธิบัตรด้าน SynBio จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างกฎหมายและระบบสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาให้รองรับเทคโนโลยีใหม่นี้ พร้อมกันนี้ยังชี้ให้เห็นช่องว่างของการพัฒนากำลังคนในประเทศ ที่ต้องมีการวางเส้นทางอาชีพที่มั่นคงให้กับบุคลากรที่มีความสามารถให้ยังคงอยู่ในสาขานี้ และบัณฑิตที่จบไปแล้วต้องสามารถพัฒนาทักษะเพิ่มเติมเพื่อทำงานในด้านชีววิทยาสังเคราะห์และวิศวกรรมชีวภาพ และ Machine Learning หรือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้
ในส่วนของยุทธศาสตร์ 10 ปี ด้านชีววิทยาสังเคราะห์และวิศวกรรมชีวภาพของประเทศไทย ได้วางแนวทางในการตั้งระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนขีดความสามารถด้านการวิจัยและเพิ่มการใช้ประโยชน์จากภาคอุตสาหกรรม โดยมีนโยบายประเทศที่ส่งเสริมให้ชีววิทยาสังเคราะห์และวิศวกรรมชีวิภาพเป็นเทคโนโลยีเป้าหมายของชาติและมีการจัดสรรทุนเพื่อสนับสนุนเป้าหมายนี้ โดยอาจมีโปรแกรมการร่วมลงทุนกับต่างชาติ นอกจากนี้ ยังต้องสร้างการรับรู้ของสังคม ผ่านการจัดกิจกรรมที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและประชาสังคม พัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และสร้างความร่วมมือกับนานาชาติ มีการสร้างรากฐานองค์ความรู้ ผ่านการพัฒนาทักษะกำลังคน การให้ทุนการศึกษาเพื่อดึงดูดบุคลากร มีระบบการวิจัยที่ให้ทุนวิจัยและอุปกรณ์สำหรับงานวิจัยขั้นแนวหน้า ที่สำคัญจะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมและขยายตลาด โดยมีระบบสนับสนุนธุรกิจ มีทุนวิจัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และมีศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายใหญ่คือการทำให้ชีววิทยาสังเคราะห์และวิศวกรรมชีวภาพเป็นรากฐานที่มั่นคงสําหรับนวัตกรรมและการเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศ และช่วยเสนับสนุนการเพิ่มจีดีพีในภาพรวมของประเทศได้
สำหรับการดำเนินงานระยะต่อไปของ สอวช. นั้น จะทำใน 3 ด้านได้แก่ 1. Knowledge – พัฒนาหลักสูตร ทุนวิจัย ห้องปฏิบัติการ และกำลังคนด้าน SynBio 2. Funding – สนับสนุนการจัดสรรทุนวิจัยตามแผนที่นำทาง 3. Regulation – ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อกำกับดูแลและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์อย่างยั่งยืน




ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนเรื่อง SynBio จะต้องมองภาพรวมทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ให้เชื่อมโยงกัน โดยดึงกลุ่ม SME เข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยเฉพาะในภาคเกษตรและภาคพลังงาน พร้อมชี้ให้เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องยกระดับให้เป็นระดับชาติ และเชื่อมโยงทรัพยากรชีวภาพกับการผลิตผลิตภัณฑ์นวัตกรรม โดยใช้กลไกด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเชิงระบบ