messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายวิเทศสัมพันธ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

สอวช. ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายวิเทศสัมพันธ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

วันที่เผยแพร่ 28 เมษายน 2025 341 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายวิเทศสัมพันธ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประจำปีงบประมาณ 2568 ระหว่างวันที่ 23–25 เมษายน 2568 เพื่อสร้างความคุ้นเคยผ่านกิจกรรมเครือข่าย (Networking) เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานะความร่วมมือปัจจุบัน รวมถึงร่วมวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคที่พบในการดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ

ดร.ดวงกมล พิหูสูตร นักพัฒนานโยบาย สอวช. เป็นผู้แทนเข้าร่วมกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายวิเทศสัมพันธ์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23–24 เมษายน 2568 ณ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ประกอบด้วยการศึกษาดูงานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชนบ้านศาลาดิน โดยมีสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดเก็บข้อมูลอุทกภัยในอดีตร่วมกับชุมชน เพื่อนำไปสู่การวางแผนสื่อสารและการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและป้องกันความเสียหายจากอุทกภัย นอกจากนี้ ยังได้รับฟังการบรรยายจากผู้แทนชุมชนเกี่ยวกับการสร้างการรับรู้และการระบุพื้นที่เสี่ยงภัยผ่านการใช้แผนที่ รวมถึงการศึกษาดูงานแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ และระบบบำบัดน้ำเสียด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ของชุมชน

ตลอดระยะเวลา 2 วัน ผู้เข้าร่วมได้ทำกิจกรรมกลุ่มในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและระดมสมองร่วมกัน พัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทายอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งออกแบบแนวทางขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศในรูปแบบ Roadmap for International Cooperation โดยจำแนกตามกลุ่มประเทศเป้าหมาย นำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพภายในเครือข่าย

ในวันที่ 25 เมษายน 2568 กิจกรรมเปลี่ยนรูปแบบเป็นการประชุม ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ โดยมีการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในระดับทวิภาคี โดยยกกรณีระหว่างไทย–สหราชอาณาจักร รวมถึงบทบาทของกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ในการนี้ ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ สอวช. ได้ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการการอภิปรายเรื่อง “การบริหารจัดการภัยพิบัติด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ”

ในการอภิปราย ผู้ร่วมเสวนาได้นำเสนอแนวทางการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อบริหารจัดการภัยพิบัติรูปแบบต่าง ๆ อาทิ

  • การใช้หุ่นยนต์ภาคสนามในภารกิจช่วยเหลือและกู้ภัย โดย รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • การใช้เทคโนโลยีประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยและกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ โดย ดร.พีรนันท์ โตวชิราภรณ์ ผอ.ฝ่ายภูมิศาสตร์และสารสนเทศศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC)
  • การเตรียมความพร้อมบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านการเฝ้าระวังและรับมือแผ่นดินไหวในอนาคต โดย ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา อดีตรองอธิการมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
  • การเตรียมความพร้อมชุมชนในการตั้งรับและปรับตัวก่อนเกิดภัยพิบัติ ตัวอย่างจากชุมชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดย ผศ.ดร.ภาคภูมิ บวบทอง รองผู้อำนวยการสำนักการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ผู้ร่วมอภิปรายได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างองค์ความรู้ พัฒนาบุคลากร และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ระหว่างประเทศ เพื่อการตั้งรับและการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ยกตัวอย่างความร่วมมือสำคัญที่ผ่านมา โดยในช่วงท้ายของการอภิปราย มีการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเตรียมการในทุกช่วงของภัยพิบัติ ทั้งในระยะรับมือ การช่วยเหลือในช่วงเกิดภัย และการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ โดยตัวอย่างเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญ อาทิ

  • การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อประเมินพื้นที่ได้รับผลกระทบ และระบุพื้นที่ที่มีประชากรอยู่อาศัยโดย ดร.สุรัสวดี ภูมิพานิช นักภูมิสารสนเทศชำนาญการ จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.)
  • การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตน้ำบริโภคฉุกเฉินสำหรับชุมชนในพื้นที่ประสบภัย และการพัฒนาชุดทดสอบคุณภาพน้ำดื่มที่ปลอดภัย โดย ดร.ณัฏฐพร พิมพะ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย กลุ่มวิจัยเร่งปฏิกิริยาระดับนาโนการดูดซับและการคำนวณ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภัยพิบัติ และช่วยให้สามารถเตรียมความพร้อมรับมือวิกฤติการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

เรื่องล่าสุด