messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. เข้าร่วมหารือ สศก. นำเสนอข้อมูลและขอข้อแนะนำในการดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในระบบประกันภัยพืชผลของประเทศไทย

กระทรวง อว. โดย สอวช. เข้าร่วมหารือ สศก. นำเสนอข้อมูลและขอข้อแนะนำในการดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในระบบประกันภัยพืชผลของประเทศไทย

วันที่เผยแพร่ 28 เมษายน 2025 151 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดย ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. เข้าร่วมหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เพื่อนำเสนอข้อมูลและขอข้อแนะนำในการดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในระบบประกันภัยพืชผลของประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 โดยมี ดร.กาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการ สศก. เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุมและกล่าวต้อนรับฯ ผู้เข้าร่วมประชุม

ดร.สุรชัย กล่าวถึงบทบาทของ สอวช. ที่เกี่ยวข้องกับระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ รวมถึงการดำเนินงานในฐานะเลขานุการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ อีกทั้งได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์และที่มาของโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับระบบประกันพืชผลจากข้อมูลความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรของประเทศไทย โดย สอวช. อยู่ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้วมาสู่ประเทศไทยในฐานะหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีของประเทศไทย (National Designated Entity Thailand: NDE Thailand) ภายใต้กลไกเทคโนโลยี (Technology Mechanism) กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และดูแลโครงการที่ได้รับการสนับสนุนความช่วยเหลือทางวิชาการด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technical Assistance: TA projects) ของประเทศไทย

รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการ สอวช. ยังได้นำเสนอข้อมูลความสอดคล้องของนโยบายและแผนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปี พ.ศ. 2566 – 2570 และแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 และเสนอถึงหลักการ กรอบแนวคิด รายละเอียดและความก้าวหน้าของโครงการ “Blockchain Technology for a Real Time Climate Risk Insurance System in Thailand’s Agricultural Sector” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้โปรแกรม Adaptation Fund Climate Innovation Accelerator (AFCIA I) เฟสแรก โดยได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่าย (Climate Technology Centre and Network: CTCN) ซึ่งดำเนินงานร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) และกองทุนการปรับตัว (Adaptation Fund) นอกจากนี้ ได้เสนอสรุปรายงานการวิเคราะห์เบื้องต้นของภาคเกษตรของไทยและผลสำรวจเกษตรกรและสรุปประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในระบบประกันภัยพืชผลในภาคเกษตรของประเทศไทย

การประชุมหารือในครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญ คือการเสนอข้อมูลความก้าวหน้าของโครงการฯ และประเด็นหารือแก่ สศก. เพื่อขอข้อแนะนำ ได้แก่ 1) รูปแบบที่เหมาะสมและข้อจำกัดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในประเด็นทางเทคนิค และกฎระเบียบ ข้อมูลและแหล่งข้อมูล รวมถึงประเด็นเรื่องการเสริมสร้างขีดความสามารถ (Capacity building) 2) แนวทางการพัฒนาขยายผลในระดับแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ประเภทพืชผล พื้นที่ ระยะเวลา แนวทางที่จะริเริ่มทดลอง 3) การขอความเห็นต่อการตั้งคณะทำงานของโครงการฯ (Project Working Group) 4) ความสอดคล้องและความเกี่ยวข้องกับคณะกรรมการขับเคลื่อนการประกันภัยการเกษตร

ทั้งนี้ ดร.กาญจนา ได้ให้ข้อแนะนำและข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อพัฒนาแนวทางในการทดลองใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนร่วมกันต่อไป ซึ่งมีแนวทางการเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงประกันพืชผลของเกษตรกรไทยผ่านการพัฒนา Climate Smart Agriculture (CSA) การเริ่มขยายผลทดลองแซนด์บ็อกซ์การประกันภัยพืชผลที่เกี่ยวข้อง การปรับตัวของเกษตรกรด้วยการเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Resilience) และการลดความเสี่ยง (Risk Reduction) ให้กับเกษตรกรไทยที่อาจต้องเผชิญกับปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในการทำการเกษตร รวมถึงการนำเสนอข้อมูลสรุปผลโครงการฯ ผ่านคณะกรรมการและคณะทำงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป

เรื่องล่าสุด