messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมเวทีถกแนวทางยุติความรุนแรงต่อเด็ก หนุนสร้างความเชื่อมั่นและเปิดโอกาสให้เยาวชนค้นหาศักยภาพของตนเอง เชื่อพลังจากทุกภาคส่วนช่วยลดความรุนแรงได้

สอวช. ร่วมเวทีถกแนวทางยุติความรุนแรงต่อเด็ก หนุนสร้างความเชื่อมั่นและเปิดโอกาสให้เยาวชนค้นหาศักยภาพของตนเอง เชื่อพลังจากทุกภาคส่วนช่วยลดความรุนแรงได้

วันที่เผยแพร่ 28 กันยายน 2022 1044 Views

ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมเสวนาในหัวข้อ “รวมพลังเยาวชน ร่วมใส่ใจ โลกไร้ความรุนแรง” ภายใต้โครงการยุติความรุนแรงต่อเด็ก ประจำปี 2022 ในแนวคิด “ละเลย เลยรุนแรง” จัดโดย มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ศ.ดร.เรวดี ศักดิ์ดุลยธรรม ผู้ช่วยอธิการบดี และคณบดี คณะเทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ นายเทพธีระ ชัยอิ่นคำ ผู้จัดการโครงการมูลนิธิไรท์ ทู เพลย์ ประเทศไทย นายณรรฐพงษ์ ผู้ภักดีวงศ์ พิธีกรรายการสารคดีท่องโลกกว้าง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และโค้ชผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาคน (เยาวชนและผู้นำองค์กร) นางราตรี แฉล้มวารี หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร ตัวแทนจากกรมเด็กและเยาวชน รวมถึงตัวแทนผู้นำเยาวชนจากจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดเชียงใหม่

ดร.กาญจนา ได้กล่าวถึงมุมมองของ สอวช. ที่เป็นหน่วยงานด้านนโยบาย โดยมองว่า ในระดับนโยบายประเทศไทยมีแนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่เราจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวไม่ได้ หากสังคมของเรายังไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความมั่นคงปลอดภัย รวมถึงยังมีปัญหาเรื่องความรุนแรง ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ เกิดขึ้นอยู่ การจะขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเรื่องความรุนแรงในสังคม โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน มองว่าทำได้ 2 ทาง ส่วนแรกคือกลไกหรือเครื่องมือจากรัฐบาลที่จะออกเป็นกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ แต่อีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดผลได้จริง คือการทำให้ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในใจของทุกคน ให้ทุกคนเห็นบทบาทว่าตัวเองมีส่วนช่วยยุติความรุนแรง และช่วยสร้างสังคมให้ดีขึ้นได้ อาจเริ่มจากการช่วยคนที่อยู่ใกล้ตัว ครอบครัว เพื่อน และหากมีพลังมากขึ้นก็สามารถรวมกลุ่มกันเพื่อออกไปช่วยสังคม ขึ้นไปสู่ระดับชาติ หรือนานาชาติได้

“เรื่องของความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมมาตลอด แต่รูปแบบอาจเปลี่ยนไปตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง เช่น รูปแบบไซเบอร์บูลลี่ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ต้องคิดก่อนโพสต์ อ่านก่อนตอบมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ทุกคนต้องปรับตัว และต้องมีทักษะชีวิตที่จะเรียนรู้ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง อยากให้ใช้หลักคิดว่าเหรียญมีสองด้านเสมอ เมื่อเจอสถานการณ์ต่างๆ ถ้าเรามองในด้านลบก็จะพบแต่ปัญหาอุปสรรค แต่ถ้าหันไปมองอีกด้าน พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ใช้สิ่งที่เรามีอยู่สร้างโอกาสในการพัฒนาตนเองเพื่อก้าวข้ามอุปสรรค มองในส่วนที่เรามีมากกว่าส่วนที่เราขาด แล้วใช้ส่วนที่มีนั้นสร้างโอกาสให้กับตัวเอง ก็จะเป็นแนวทางที่จะสร้างความก้าวหน้าให้กับชีวิตได้” ดร.กาญจนา กล่าว

สำหรับแนวทางที่จะดึงให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อลดความรุนแรง ดร.กาญจนา กล่าวว่า จุดเริ่มต้นคือเด็กและเยาวชนจะต้องมีความเชื่อมั่นก่อนว่าเราเป็นคนดี มีความสามารถ ต้องค้นหาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของตัวเองให้เจอ ส่วนผู้ใหญ่เองก็ต้องเป็นผู้ฟังที่ดีให้มากขึ้น และต้องสร้างพื้นที่ให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วม สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันได้ ที่สำคัญ เด็กและเยาวชนต้องมีเป้าหมายเป็นของตัวเองก่อน ค้นให้เจอว่าอะไรทำให้เรามีความสุข และเป็นแรงบันดาลใจให้เราพัฒนาตัวเอง และโรงเรียนต้องเพิ่มพื้นที่ที่จะทำให้เด็กค้นพบศักยภาพของตนเองได้ ด้านกระทรวง อว. ปัจจุบันได้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้คนทุกวัยสามารถเข้าถึงการศึกษา พัฒนาทักษะเพื่อเข้าสู่เส้นทางอาชีพ รวมถึงส่งเสริมบ่มเพาะสู่การเป็นผู้ประกอบการ สามารถเรียนไป ทำงานไป สะสมหน่วยกิตเมื่อครบก็สามารถสมัครเพื่อขอรับประกาศนียบัตรหรือปริญญาได้

ดร.กาญจนา ยังได้ฝากถึงทุกคนว่า เยาวชนในวันนี้คือทรัพย์สมบัติที่สำคัญของประเทศ เป็นคนที่จะเติบโตขึ้นมาดูแลประเทศชาติและโลกของเราต่อไป ดังนั้นเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องดูแลและใส่ใจกลุ่มเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ให้มีความเข้มแข็งและเติบโตขึ้นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลเองอยู่ในบทบาทให้การสนับสนุน ส่งเสริมด้านกฎหมาย กฎระเบียบ หรืองบประมาณต่างๆ แต่ขณะเดียวกัน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ชุมชน จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนในเรื่องการลดความรุนแรงร่วมกันได้

หลังการจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็น ผู้แทนเยาวชนได้นำเสนอผลการระดมความคิดเห็นข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก และผู้ร่วมงานยังได้ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก ภายใต้แนวคิด “ละเลย เลยรุนแรง” เพื่อเป็นจุดสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันปกป้องคุ้มครองเด็ก และเป็นการแสดงจุดยืนเพื่อร่วมกันยุติความรุนแรงต่อเด็ก ในเชิงสัญลักษณ์ด้วย

ทั้งนี้ ในงานยังได้มีการถ่ายทอด Youth VDO ประมวลภาพผลงานและกิจกรรมเยาวชนตลอดปี 2022 พร้อมทั้งมีพิธีมอบเกียรติบัตรสำหรับเยาวชนศุภนิมิตดีเด่น ประจำปี 2022 แสดงภาพผลงานการประกวดศิลปะของเยาวชน และปิดท้ายด้วยการแสดงมินิคอนเสิร์ต “ละเลย เลยรุนแรง”

เรื่องล่าสุด