บพท. หนุนเทศบาลเมืองแม่เหียะ พัฒนาระบบสาธารณสุขต้านการระบาดเชื้อโควิด

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ได้มีกิจกรรมแถลงข่าวทิศทางเครือข่ายเชิงปฏิบัติการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเพื่อตอบสนองการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID–19 ที่เทศบาลเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานวิจัยภายใต้ “โครงการการจัดการเมืองเชิงระบบในภาวะฉุกเฉินเพื่อรับผลกระทบโรคติดไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” โดยได้รับเกียรติจากท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ รวมถึงตัวแทนจากเครือข่ายที่ร่วมงานวิจัย ทั้งบริษัทแอท-ยีนส์ จำกัด บริษัทเอเวอร์ เมดิคอล เทคโนโลยี จำกัด และสถาบันทิวา เข้าร่วมในงานแถลงข่าวครั้งนี้

รศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 การเข้ารับการตรวจเพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อ มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง เพื่อจะได้วางแผนรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ดังนั้นโครงการวิจัยนี้จึงมีการทำงานแบบเครือข่ายกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเพื่อตอบสนองการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ประกอบด้วย บริษัทแอท-ยีนส์ จำกัด เป็นระบบตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อแบบครบวงจร บริษัทเอเวอร์ เมดิคอล เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท ทิงค์ เน็ต จำกัด เป็นผู้จัดทำระบบเฝ้าติดตามผู้ที่ผ่านการตรวจเชื้อโควิด และสถาบันทิวา ดำเนินการจัดทำแผนและกลยุทธ์นำไปขยายผลใช้ในพื้นที่อื่น

“การดำเนินการภายใต้ความร่วมมือนี้จะมี 4 ด้านคือ 1) มีการตรวจเชื้อ 2) มีการติดตามผู้ที่เข้ารับการตรวจเชื้อ 3) การดูแลตนเองของประชาชนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ เช่น Quarantine Home และ 4) กลไกการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อยกระดับและนำไปสู่ทิศทางนโยบายสาธารณะและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมสู่การเป็น COVID Free City เพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19”

รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า การปฏิบัติการครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของชุดโครงการวิจัย ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงพื้นที่โดยมีกระบวนการการทำงานร่วมกัน ที่ทำให้เห็นผลเชิงประจักษ์ โดยการนำความรู้และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อทำให้เกิดการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ขยายผลและนำไปสู่การทำงานอย่างยั่งยืน ซึ่งเทศบาลเมืองแม่เหียะจะเป็นพื้นที่นำร่อง การจัดการและการดูแลระบบสาธารณสุขด้วยตนเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ และการควบคุมการแพร่ระบาด เพื่อลดการกระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 จากความร่วมมือของเครือข่ายฯ ร่วมกับเทศบาลเมืองแม่เหียะในการปฏิบัติการและเป็นพื้นที่สาธารณะต้นแบบ (Sandbox) ปฏิบัติการสำเร็จแล้ว จะได้มีการถอดบทเรียนความร่วมมือครั้งนี้ ซึ่งเป็นระบบจัดการตนเองผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสู่การพัฒนาและยกระดับพื้นที่อื่นต่อไป

สถิติการเข้าชม