บพท. รวมพลังเครือข่ายมหาวิทยาลัย ใช้ “มหกรรมฟื้นใจเมือง” เชิดศิลปะ ชูวัฒนธรรมไทย สร้าง”คุณค่า” ใหม่ให้กับชุมชน

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย ดร.กิตติ ให้เกียรติร่วมงานพร้อมกล่าวเปิดงาน “มหกรรมฟื้นใจเมือง” ณ ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ถนนเยาวราช กรุงเทพฯ โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายชุมชน ศิลปินท้องถิ่น และผู้ประกอบการ ในการสร้างคุณค่าให้กับทุนทางวัฒนธรรมของไทยที่รวบรวมมาจากทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย
งานมหกรรมฟื้นใจเมืองถูกจัดขึ้นแล้วทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจัดขึ้นภาคกลางที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ถนนเยาวราช กรุงเทพฯ เป็นที่สุดท้าย โดยได้ดึงงานวิจัยและผลงานจากทุนทางวัฒนธรรมมาจัดแสดง พร้อมนำเสนอ Cultural Map Thailand ที่เป็นการนำเสนอองค์ความรู้จากผลสัมฤทธิ์ในโครงการผ่านผลิตภัณฑ์จริงและสื่อมัลติมีเดียที่ผู้เข้าร่วมงานสามารถสัมผัสมิติใหม่ทางวัฒนธรรมแบบเสมือนจริงผ่านเทคโนโลยี Metaverse นอกจากนี้ยังสามารถพบ กับการแสดงทางศิลปะวัฒนธรรมและดนตรีหลากหลายที่หาชมได้ยาก กิจกรรม workshop สาธิตและอบรมงานฝีมือกับตัวแทนชุมชนที่เป็นเจ้าของทุนและการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม
อันเป็นอัตลักษณ์ชุมชนจากพื้นที่ต่างๆ อาทิ โขนสด, กินนรรำจิตรกรรมวัดเกาะ, ทะแยมอญน้ำเค็ม, เชิดสิงโตไฉ่ชิง-กลองเบญจธาตุ, สิงโตฮากกา, ลูกทุ่งปี่พาทย์ไทย, กลองยาว, กลองโทน, รำกะเหรี่ยงและการแสดงดนตรีร่วมสมัย เป็นต้น
“มหกรรมฟื้นใจเมือง” เกิดจาก หน่วย บพท. เล็งเห็นถึงศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาที่กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งมีส่วนช่วยยกระดับขีดความสามารถและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้อย่างรูปธรรม จึงได้สนับสนุนโครงการวิจัยให้แก่มหาวิทยาลัย 10 แห่งในพื้นที่ภาคกลางเพื่อขับเคลื่อนการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่นด้วยฐานทุนวัฒนธรรมครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ซึ่งหากรวม 4 ภูมิภาค มี 48 โครงการ จาก 42 สถาบัน ครอบคลุมพื้นที่ 31 จังหวัด ภาพรวมได้ก่อเกิดผลผลิต ประกอบด้วย ผู้ประกอบการวัฒนธรรมแบบกลุ่มจำนวน 171 กลุ่ม แบบรายจำนวน 435 ราย ผู้ประกอบการวัฒนธรรมรายใหม่ที่เกิดจากการดำเนินโครงการ จำนวน 134 ราย มี”คนรุ่นใหม่” 447 คน “คนคืนถิ่น” 124 คนที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ และเกิด”นวัตกรวัฒนธรรม” 366 ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม 468 ผลิตภัณฑ์ บริการทางวัฒนธรรม 137 บริการ และพื้นที่วัฒนธรรม 100 แห่ง ซึ่งถือเป็นการนำเสนอรูปธรรมความสำเร็จ ในการนำคุณค่าของทุนวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์หรือการบริการทางวัฒนธรรม นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความตระหนักรู้ในคุณค่าและความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์รากเหง้าของชุมชน เพิ่มขีดความสามารถในการจัดการตนเองของชุมชน พร้อมนำมาซึ่งเพดานของรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อทุนทางวัฒนธรรมสร้างความภาคภูมิและสร้างรายได้ที่หล่อเลี้ยงตนเองได้อย่างมั่นคง ย่อมนำไปสู่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

สถิติการเข้าชม