บพท.-กทม.-พอช. ผนึกกำลังร่วมนำร่อง 3 เขตกรุงเทพมหานคร แก้จนแบบเบ็ดเสร็จ

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) จัดงานนำเสนอความก้าวหน้าโครงการการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ กรุงเทพมหานคร และหารือแนวทางการพัฒนาโครงการนำร่องแก้ไขปัญหาความยากจน (Operating Model : OM) ณ ห้องประชุมราชเทวี 2 โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร

นำโดยคณะผู้บริหารและคณะทำงาน ได้แก่ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการ กทม. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. สำนักงานเขต 50 เขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรนานาชาติ และคณะผู้วิจัยกว่า 140 ท่าน

การประชุมในครั้งนี้ ดร.พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณ์ หัวหน้าโครงการฯ ได้รายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงานในพื้นที่ 3 เขต ได้แก่ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระโขนง และเขตคันนายาว ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ได้ทำการค้นหาสอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจนไปแล้ว 30 ชุมชน จำนวน 658 ครัวเรือน และไม่น้อยกว่า 2 พันกว่าคน รวมถึงมีการส่งต่อความช่วยเหลือทั้งการสงเคราะห์ การสนับสนุนให้สวัสดิการ อาทิ การทำบัตรประชาชน ทุนการศึกษา ถุงยังชีพ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ การแนะนำปรับปรุงที่อยู่อาศัย ที่มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่

และได้รับเกียรติจาก นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเปิดกิจกรรมว่าความตั้งใจของการดำเนินโครงการฯ ในพื้นที่ 3 เขต ซึ่งสะท้อนความเป็นกรุงเทพ และเป็นต้นแบบเพื่อที่จะขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุม 50 เขต และ กทม. ได้มีการปรับวิธีการทำงานนำข้อมูลมาเป็นที่ตั้ง โดยมีอาสาสมัครเก็บข้อมูลในพื้นที่ชุมชน ที่มีการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน และมีการคืนข้อมูลให้ชุมชนเป็นเจ้าของและดูแลข้อมูลของตนเอง ดังนั้น การคืนข้อมูลจึงเป็นหัวใจหลักที่ทำให้ชุมชนสามารถบอกข้อมูลของตนเองได้ ทั้งนี้ กทม. มีการให้งบประมาณกับชุมชน เสมือนกับกองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้ชุมชนตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ จะนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในหลายมิติ และกลุ่มภาคีต่าง ๆ

ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วย บพท. ได้นำเสนอแนวคิดการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ซึ่งการแก้ไขปัญหาความยากจนได้ถอดบทเรียนของประเทศจีน มาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทย ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 20 จังหวัด ที่มีการใช้ฐานข้อมูล TPMAP เป็น Target base ในการค้นหา สอบทานคนยากจน ว่าจะช่วยเหลือใคร อย่างไร ทำให้พบว่ายังมีช่องว่าง (Gap) ความแม่นยำของข้อมูล จึงได้พัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด (Provincial Poverty Alleviation Operating System : PPAOS) ที่เกิดกลไกความร่วมมือเพื่อขจัดปัญหาความยากจนระดับจังหวัด โดยการเสริมพลัง จากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ หน่วยงานรัฐ หน่วยท้องถิ่น องค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม ซึ่งข้อค้นพบสำคัญจากการดำเนินงาน ดังนี้ 1) ระบบค้นหาและสอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับจังหวัด 2) ระบบวิเคราะห์ปัญหาและฐานทุนครัวเรือนยากจนเพื่อช่วยออกแบบการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสมที่สอดคล้องกับสถานะความยากจนรายครัวเรือน 3) ระบบส่งต่อความช่วยเหลือเพื่อนำคนยากจนที่ตกหล่นเข้าสู่สวัสดิการภาครัฐ 4) สร้างโมเดลแก้จนระดับพื้นที่ (Pro-poor Value Chain) เพื่อช่วยเหลือคนยากจน ในการเพิ่มรายได้และยกระดับฐานะทางสังคม (Social Mobility) นอกจากนี้ยังพบคนจนไม่จริง (Inclusion Error) และคนจนตกหล่น (Exclusion Error) จากระบบข้อมูล TPMAP จึงได้ยกระดับไปสู่การทำระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนกลางของจังหวัด (Thai People Map ระดับจังหวัด) อย่างมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่

สุดท้าย นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. กล่าวว่าแนวทางความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและแม่นยำ จะต้องมีวิธีหรือกระบวนการ ส่วนแรก ต้องมีกลุ่มเครือข่ายที่จะทำงานร่วมกัน ส่วนที่ 2 มีการเก็บข้อมูลทางเทคโนโลยี ส่วนที่ 3 การลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่ เพื่อเป็นต้นแบบการเดินหน้าการทำงานให้ครบทั้ง 50 เขต ที่มีการตั้งเป้าหมายไว้

จากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวความร่วมมือ ระหว่างคณะวิจัย ภาคีเครือข่ายปฏิบัติการ ที่จะนำแนวทางยกระดับและสร้างรูปแบบใหม่ของการแก้ปัญหาความยากจนมิติใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินร่วมมือแก้ปัญหาความยากจนในกรุงเทพมหานคร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

สถิติการเข้าชม