บพท. ผนึกกำลังเครือข่ายการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด ยกระดับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลสาธารณะสำหรับเมือง

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดย รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกล่าวบรรยายถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า “เป็นเวทีสำหรับการประกาศความร่วมมือระหว่างเครือข่ายการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาดด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูลสาธารณะสำหรับเมืองที่นำไปสู่กลไกข้อมูลสาธารณะของการพัฒนาเมืองให้เกิดความสามารถทางการแข่งขัน เกิดการจ้างงาน ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนความเจริญของเมืองอย่างยั่งยืน รวมทั้งแลกเปลี่ยนและนำเสนอผลงานทางวิชาการของเครือข่ายมหาวิทยาลัยในการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด และเครือข่ายพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable and Smart City Alliance) มากกว่า 20 หน่วยงาน ทั้งจากภาครัฐ มหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” โดยมี พันตำรวจโท อนุรักษ์ จิรจิตร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน
ซึ่งงานนี้เกิดขึ้นเพราะเล็งเห็นความจำเป็นในการเร่งรัดกลไกการวิจัย เพื่อจะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (Digital Infrastructure) ที่เข้ามาส่งผลให้เมืองเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมืองจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดการลงทุนของเมือง (Investment) เพื่อทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนเกิดการขยายตัวมากขึ้น เกิดการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม หากเมืองเกิดการลงทุนอย่างถูกต้อง จะนำมาซึ่งโอกาสที่มากขึ้นและความเสี่ยงที่น้อยลงของเมือง จนนำไปสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ ปลอดภัย และเติบโตอย่างยั่งยืน
โดยการประกาศความร่วมมือระหว่างเครือข่ายการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาดครั้งนี้ มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองด้วยข้อมูล (Data-Driven Cities) โดยมีแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ การจัดเก็บรวบรวม เผยแพร่ และดูแลข้อมูลของเมืองให้มีความสมดุลกัน รวมถึงการผลักดันการสร้างพื้นที่สำหรับจัดเก็บและแสดงข้อมูลเมืองทั้งที่เป็นพื้นที่สาธารณะและเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายและเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนในการนำข้อมูลเหล่านี้ไปช่วยใช้ในการพัฒนาเมือง รวมไปถึงการลงทุนด้านธุรกิจต่าง ๆ โดยนำร่องการขับเคลื่อนตามวาระของเมืองใน 8 พื้นที่ ประกอบด้วย เชียงใหม่ ขอนแก่น มหาสารคาม สระบุรี กรุงเทพมหานคร ระยอง นครศรีธรรมราช และกาฬสินธุ์
อีกทั้งภายในงานยังมีการบรรยายพิเศษและงานเสวนามากมาย อาทิเช่น การบรรยายพิเศษ “เมืองที่น่าอยู่และฉลาดในปี 2033” เสวนา “ความหวังของเศรษฐกิจใหม่: การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับเมือง” เสวนา “มหาวิทยาลัยกับทิศทางการขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่อันชาญฉลาดโดยใช้องค์ความรู้ วิจัยและนวัตกรรม” พร้อมทั้งยังมีการนำเสนอผลงานภาคประชาชนและเยาวชนของเมืองเชียงใหม่จากการสำรวจและเรียนรู้ข้อมูลสาธารณะของเมือง โดยงานนี้ยังถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดจากทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคมร่วมกัน นำไปสู่การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาเมืองให้มีความพร้อมที่จะรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบต่อไป

สถิติการเข้าชม