บพท.รุกใช้ทุนวัฒนธรรมกู้วิกฤต หนุนเศษฐกิจท้องถิ่นโต 200 ล้าน

บพท.เตรียมบุกใหญ่พัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยทุนวัฒนธรรมให้กลไกให้รอดวิกฤตเศรษฐกิจ สร้างชุมชนเข้มแข็งทั่วประเทศจากงานวิจัย หลังสร้างผู้ประกอบการมาแล้วกว่า 6,000 แห่ง สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 200 ล้านบาท

นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะด้านบุคลากร การศึกษาและการเข้าสู่สังคมคนชรา

ในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา บพท.ร่วมกับสถาบันการศึกษา ชุมชนราชการท้องถิ่น ทำการวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจบนทุนวัฒนธรรม และพบว่าได้ผลดี เกิดผู้ประกอบการวัฒนธรรมขึ้นมาแล้ว 6,000 ราย ทำให้ชุมชนมีรายได้ถึง 200 ล้านบาท

“การเปลี่ยนผ่านของไทยจะต้องใช้เวลานานเพราะเป็นเรื่องประชากร การศึกษา แต่ประเทศไทยมีความร่ำรวยทางวัฒนธรรม ชุมชนมีความหวงแหน จึงเป็นบรรยากาศที่เหมาะสมที่ บพท.จะใช้ทุนวัฒนธรรมเหล่านี้มาช่วยแก้ปัญหาของประเทศ”

นายกิตติ กล่าวว่า แนวทางของ บพท.จะเป็นไปในแบบการอนุรักษ์แล้วต่อยอด ขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะทำให้เติบโตได้อย่างมั่นคงมากกว่าการมุ่งเชิงการค้าเพียงด้านเดียว

 “อย่างเช่นพื้นที่วัฒนธรรมที่ทุ่งสง เราเห็นความหวงแหน ความมุ่งมั่นของชุมชน นี่คือที่เราอยากให้เกิดขึ้นทุกหนแห่ง ให้ทุนวัฒนธรรมเป็นมวลขนาดใหญ่ขับเคลื่อนประเทศ”

ปัจจุบัน บพท. ดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ในหลายระดับ ทั้งการแก้ปัญหาความยากจนเบ็ดเสร็จแม่นยำ การสร้างชุมชนนวัตกรรม การสร้างธุรกิจชุมชน การส่งเสริมทุนวัฒนธรรม ไปจนถึงการพัฒนาเมืองและงานวิจัยเพื่อบรรเทาปัญหาประชาชนในภาวะวิกฤต

งานวิจัยต่าง ๆ ดังกล่าวดำเนินการอยู่ใน 62 จังหวัด ผ่านมหาวิทยาลัยกว่า 90 แห่ง มุ่งเน้นการสร้างความรู้และนวัตกรรมให้ประชาชน ตลอดจนพัฒนาระบบการทำงานในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และเกิดกลไก กระบวนการต่อยอดโดยภาคีรัฐและเอกชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

 “บพท. ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาทั้งในเชิง issue และ area เช่นการพัฒนาธุรกิจชุมชนเพื่อส่งเสริมธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง และการพัฒนาภาพรวมของพื้นที่ เช่น smart city หรืออย่างเมืองไผ่ที่ปราจีนบุรี เป็นการยกระดับศักยภาพของทั้งพื้นที่ ทำให้เรามั่นใจว่าแนวทางที่ยึดโยงความต้องการในพื้นที่ เป็นทางออกสำหรับการเปลี่ยนผ่านประเทศไทย”

โปรแกรมพัฒนาเมืองของ บพท.เข้าไปมีบทบาทในการจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมืองขึ้นมาแล้ว 19 แห่ง เกิดเป็นกระบวนการออกแบบเมืองโดยชุมชน เช่น wellness city ที่เชียงใหม่และภูเก็ต smart city ที่ตำบลแม่เหียะ เชียงใหม่ learning city พะเยา และเมืองปลอดคาร์บอน นครราชสีมา เป็นต้น

 “แกนหลักของงานวิจัยคือสร้างความเข้มแข็งจากพื้นที่เพื่อตอบโจทย์ของตัวเอง พอทำต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะเกิดความเข้มแข็งทั่วประเทศ เป็นหนทางที่ดีของไทย”

ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยที่บรรยายสรุปแก่คณะกรรมการ บพท. พบว่า จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม ทำให้ปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 3.2% เนื่องจากการเปิดประเทศทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสภาพการณ์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวดีขึ้น ซึ่งทำให้คาดด้วยว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะขยายตัวได้ในระดับ 4.4%

อย่างไรก็ตามภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มต้นจากปีที่แล้วถูกซ้ำเติมจากความขัดแย้งในยูเครน ทำให้ราคาวัตถุดิบเช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ ตลอดจนรคาน้ำมัน ผลักดันให้เงินเฟ้อจะรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ประเทศไทยยังพบกับปัญหาในเชิงโครงสร้างกล่าวคือในจำนวนแรงงาน 40 ล้านคน เป็นเกษตรกร 13 ล้านคน ซึ่งเป็นคนชราประมาณครึ่งหนึ่ง มีผลผลิตต่ำ รายได้ต่ำ ในขณะที่โควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างแรงงานนอกภาคเกษตรอีกจำนวนมาก

ประเทศไทยควรหันมาให้ความสนใจกับการขยายเศรษฐกิจบนจุดแข็งของไทยที่ตอบสนองกับ mega trend ได้แก่ การพัฒนาเมืองตามแนว urbanization ของโลก การพัฒนาทุนมนุษย์ให้ตอบสนองความต้องการของพื้นที่ต่าง ๆ การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมอาหารบนฐานสิ่งแวดล้อม และพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์

ทั้งนี้กระบวนการพัฒนาประเทศควรเน้นการพัฒนาที่ยึดโยงปัญหาและเป้าหมายของแต่ละพื้นที่ มีกลไกรวบรวมทรัพยากรจากภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมกันในลักษณะ One Thailand จะช่วยให้การพัฒนาตรงตามความต้องการและมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง

สถิติการเข้าชม