×

Manpower Planning


หน้าหลัก » Manpower Planning

สอวช. ได้ทำการสำรวจข้อมูลตำแหน่งงานและสมรรถนะงานที่สำคัญ (Critical functional competency) ซึ่งเป็นที่ต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2563-2567) โดยมุ่งเน้นที่ตำแหน่งงานระดับสูงในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) การสำรวจในระยะแรกจะครอบคลุมอุตสาหกรรม New S-curve ได้แก่ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ กลุ่มตัวอย่างของการสำรวจคือสถานประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 250 ราย โดยเน้นสถานประกอบการที่สามารถเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมเพื่ออนาคตของประเทศไทยได้

ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจและรายได้รวมของบริษัททั้งกลุ่มอุตสาหกรรม ทำให้คาดการณ์ได้ว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรม New S-curve มีความต้องการบุคลากรระดับสูงในสาขา STEM รวมทั้งสิ้น 107,045 คน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 29,735 คน อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9,836 คน อุตสาหกรรมดิจิทัล 34,505 คน อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 20,153 คน และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 12,816 คน นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังเปิดเผยข้อมูลสมรรถนะงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดของตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมแต่ละกลุ่ม ข้อมูลดังกล่าวสามารถใช้อ้างอิงในการวางนโยบายด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมของประเทศ รวมถึงการกำหนดหลักสูตรในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนทั้งในรูปแบบการศึกษาระดับปริญญา และการฝึกอบรมระยะสั้น

ทั้งนี้ในระยะต่อไป สอวช.จะดำเนินการสำรวจความต้องการของบุคลากรเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์อีก 7 กลุ่ม ได้แก่ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมพัฒนาทักษะและกำลังคน

Link ผลการสำรวจ https://www.nxpo.or.th/th/wp-content/uploads/2019/09/Demand-New-S-Curve-2563-2567.pdf

<<New>> Link ผลการสำรวจสมรรถนะบุคลากรในอนาคตสำหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (พ.ศ. 2563 – 2567) : https://www.nxpo.or.th/th/report/5532/

การขึ้นทะเบียนหน่วยฝึกอบรมและรับรองการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูง ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม

ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 ได้เห็นชอบมาตรการเร่งรัดการลงทุนและรองรับการย้ายฐานการผลิตสืบเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้า หรือ Thailand Plus Package โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการพัฒนาทักษะของบุคลากรภายในประเทศ ได้แก่ (1) การกำหนดมาตรการการคลังเพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน โดยให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่เข้าข่ายเทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced technology) ไปหักลดหย่อนเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2562 – 2563 รวมทั้งให้มี (2) มาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงในสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม โดยสามารถนำค่าจ้างไปหักค่าใช้จ่ายได้ ระหว่างปี 2562 – 2563 ในการนี้ สอวช. ในฐานะหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ในการเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ ได้มีการประชุมหารือร่วมกับ สกอ. และ สวทช. เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการการขึ้นทะเบียนหน่วยฝึกอบรมและรับรองการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูงในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม ซึ่งดำเนินงานผ่านรูปแบบศูนย์อำนวยความสะดวก (Clearing House) ที่เชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และสถาบันฝึกอบรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รูป 1 รูปแบบมาตรการสนับสนุน Thailand Plus และการรับสิทธิประโยชน์จากการส่งบุคลากรฝึกอบรมในสาขาเทคโนโลยีขั้นสูงที่สอดคล้องกับประกาศ Future skills set และการจ้างงานใหม่บุคลากรทักษะสูง

กระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ สอวช. ได้จัดทำ (ร่าง) ประกาศกำหนดกลุ่ม Future Skills Set และตำแหน่งงานทักษะสูงในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมที่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ผ่านมาตรการสนับสนุนทางภาษีภายใต้โครงการ Thailand Plus Package เพื่อส่งเสริมให้เกิดการยกระดับและพัฒนาทักษะของบุคลากรผ่านรูปแบบการฝึกอบรมกับหน่วยฝึกอบรมที่ได้รับการขึ้นจากกระทรวง อว. รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรและสถานประกอบการผ่านกลไกการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูง ซึ่งมาตรการทางภาษีที่สนับสนุนประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 การสนับสนุนจากการเข้ารับการฝึกอบรมจากหน่วยฝึกอบรมที่ได้รับการรับรอง โดยผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่เข้าข่ายตามประกาศกำหนด Future skills set ไปหักลดหย่อนค่าใช้จ่าย 2.5 เท่า หรือ หากเป็นหลักสูตรที่อยู่ภายนอกเหนือจากประกาศ Future Skill Set โดยกระทรวง อว. ต้องได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในสาขาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหน่วยฝึกอบรม ได้แก่ สถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัย (University/Local Institute) ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หน่วยฝึกอบรมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน (Training Center) หน่วยฝึกอบรมภายในสถานประกอบการ (In-house Training Center/Unit) บริษัทหรือองค์กรผู้จำหน่ายสินค้าหรือให้บริการ (Vendor) หน่วยฝึกอบรมต่างประเทศ (Inbound/Outbound) เช่น สถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัย

รูป 2 แนวทางการขึ้นทะเบียนหน่วยฝึกอบรม (Registered Training Organization, RTO)

มาตรการที่ 2 สนับสนุนในกรณีผู้ประกอบการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงในสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต หรือตำแหน่งงานที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ประกอบการสามารถนำค่าจ้างไปหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า การขอรับการสนับสนุนในกรณีการจ้างงานใหม่ มีลักษณะดังต่อไปนี้

  • เป็นการจ้างงานใหม่ตามเอกสารแนบตำแหน่งงานทักษะสูงในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม
  • เป็นตำแหน่งงานใหม่ของบริษัท ซึ่งอาจทดแทนตำแหน่งงานเดิมหรือเพิ่มเติมจำนวนตำแหน่งงานปัจจุบัน
  • เป็นพนักงานทำงานเต็มเวลาหรือบางเวลา (Part-time) ที่มีผลต่อการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และขีดความสามารถทางนวัตกรรมของบริษัท
  • เป็นตำแหน่งงานที่บริษัทมีแผนงานการใช้บุคลากรทักษะสูงและมีการระบุ Function งานที่ชัดเจน
รูป 3 แนวทางการขอรับรองการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูงในสาขาวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยีและวิศวกรรม

Link หน้า web ที่สนับสนุนการดำเนินการ: https://www.nstdaacademy.com/webnsa/index.php/thailand-plus-package/home